วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ใช้จุลินทรีย์ควบคุมการคุกคามจากปลวกในยางพาราปลูกใหม่

การปลูกยางพาราอาจไม่ใช่เรื่องยากในสายตาของผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปลูกสร้างสวนยางพารามาแล้วเช่นชาวสวนยางพาราในภาคใต้หรือภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นเขตปลูกยางพาราเดิมของประเทศไทย แต่ขณะนี้ภาวะราคายางพาราขยับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง (ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ราคาน้ำยางแผ่นดิบและน้ำยางสดที่ตลาดกลางหาดใหญ่อยู่ที่ 100.50 และ 98.50 บาท/กิโลกรัม ) ปัจจุบันนี้ภาครัฐได้ส่งเสริมการปลูกยางพาราทั่วทุกภาคของประเทศ จึงทำให้มีเถ้าแก่สวนยางพารามือใหม่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าการปลูกยางพาราจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราจะปฏิบัติหรือจัดการต่อสวนยางพาราอย่างไรเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าที่สุด และต้องยอมรับว่าสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน ควบคู่ไปกับปัญหาใหม่ๆ ที่คอยติดตามทดสอบภูมิปัญญาของผู้คนทุกกลุ่มอาชีพ การมีความรู้ การสร้างสังคมแห่งความรู้ การเชื่อมต่อถึงกันบนพื้นฐานของการมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้คนที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับยางพารา เช่น ปัญหาปลวกกัดกินรากยางพาราที่ลงปลูกใหม่ เชื่อได้ว่าปัญหาดังกล่าวสามารถพบเจอทุกภาคส่วนของประเทศ ฉะนั้นจะแก้อย่างไรให้ปลอดภัย ง่าย ลดต้นทุนได้ผลประโยชน์สูงสุด จะกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาเรามารู้จักกับปลวกกันก่อน เรามักพบเห็นจอมปลวกขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจายอยู่ทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าปลวกมีวงจรชีวิตเช่นใดภายในกองดินอันแข็งแกว่ง จอมปลวกหรือรังของปลวกถือเป็นอาณาจักรของแมลงที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากที่สุดรังปลวกบางพันธุ์ในทวีปแอฟริกามีความสูงเหนือพื้นดินถึง 6 เมตร มีอุโมงค์เชื่อมต่อใต้ดินครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 5 ไร่ และมีปลวกอาศัยอยู่รวมกันประมาณ 5 ล้านตัว รังของปลวกที่มีลักษณะเป็นกองดินขนาดใหญ่ในบ้านเรามักเป็นปลวกในสกุล Macrotemes ปัจจุบันทั่วโลกค้นพบปลวกแล้วไม่ต่ำกว่า 1,800 ชนิด 200 สกุล สำหรับประเทศไทยพบว่ามีปลวกอยู่นับร้อยชนิด ซึ่งปลวกแต่ละชนิดต่างมีกลวิธีและรูปแบบในการสร้างรังไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะมีขนาดมหึมาราวหอคอยหรือเล็กเพียงแค่เนินดิน ปลวกจำนวนมากมายในแต่ละรังจะแบ่งออกได้เป็น 3 วรรณะคือ ปลวกงาน ผู้คอยวิ่งวุ่นทำงานทุกอย่างภายในรัง เริ่มตั้งแต่ตอนก่อสร้างจอมปลวก ซ่อมแซมรังถ้ามีการสึกหรอ ดูแลรักษาไข่ของนางพญาไปจนถึงการหาอาหารมาเลี้ยงดูปลวกในวรรณะอื่น ถัดมาคือ ปลวกทหาร ซึ่งมีรูปร่างทะมัดทะแมงมีส่วนหัวและกรามใหญ่โตกว่าส่วนอื่น เพื่อใช้เป็นอาวุธในการออกรบ ปลวกทหารจะเป็นผู้ต้อนรับด่านแรกหากมีผู้บุกรุกเข้ามาภายในจอมปลวก และปลวกในวรรณะสุดท้ายได้แก่ ปลวกสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นพวกเดียวที่มีโอกาสเจริญเติบโตจนสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ และเชื่อไหมว่าภายในจอมปลวกหนึ่ง ๆ ซึ่งมีปลวกนับหมื่นนับแสนตัวล้วนถือกำเนิดมาจากพญาปลวกเพียงตัวเดียว (14 ฟอง ในทุก 3 วินาที )ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนประชากรปลวกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับการสร้างจอมปลวกเริ่มขึ้นโดยปลวกงานจะช่วยกันกัดดินและขนดินมาทีละก้อน แล้วใช้น้ำลายเป็นตัวเชื่อมติด ค่อย ๆสร้างผนังจอมปลวกแน่นหนาขึ้นทีละน้อย โดยมีปลวกทหารคอยทำหน้าที่รักษาปลอดภัยไม่ให้ศัตรูมารบกวน(มด) ซึ่งจะสร้างห้องนางพญา ห้องเก็บรักษาไข่ปลวกงานส่วนหนึ่งทำการขุดช่องระบายอากาศเพื่อให้ภายในจอมปลวกเย็นสบายอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนขุดอุโมงค์ใต้ดินสู่ภายนอกเพื่อใช้หาเสบียงอาหารอันได้แก่ เศษไม้ ใบหญ้า ความจริงแล้วปลวกไม่สามารถย่อยไม้ได้เองอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นโปรโตซัวซึ่งอาศัยอยู่ในกระเพาะของมันที่ช่วยย่อยเซลลูโลสให้กลายเป็นสารอาหาร ปลวกงานจะนำเชื้อราที่ได้จากการย่อยมาสร้างเป็นสวนเห็ดขึ้นภายในจอมปลวกเพื่อลดภาระในการออกหาอาหาร สำหรับปลวกที่กัดกินทำลายไม้สดหรือรากยางพารานั้น คือ ปลวกงานหรือคอปโตเทอเมส เซอวิคนาตัส (Coptotermes curvignathus)พบเข้าทำลายกัดกินส่วนรากของต้นยางที่มีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะบริเวณโคนต้นใต้ผิวดินต่อไปภายในลำต้นจนเป็นโพรง ระยะนี้ต้นยางจะแสดงอาการใบเหลือง ต่อมาเมื่อระบบรากถูกทำลาย เป็นส่วนมากต้นยางจะตายในที่สุด ส่วนมากจะยืนต้นตายอย่างรวดเร็ว การระบาดของปลวกสังเกตได้จากต้นยางที่แสดงอาการใบผิดปกติ จะลุกลามออกไปยังต้นข้างเคียงค่อนข้างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น โดยที่เจ้าของสวนไม่สามารถมองเห็นโพรงที่ปลวกทำลายตามส่วนต่าง ๆ ภายนอกได้เลย ถ้าไม่ขุดดินบริเวณโคนต้นดู หรือลมพัดต้นยางล้ม การควบคุมกำจัดประชากรของปลวก โดยการใช้เชื้อรากินปลวก (เชื้อราเขียว หรือ Metarrhizium) คลุกผสมกับปุ๋ยคอก (มูลโค มูลไก่ ฯลฯ ) และภูไมท์ในอัตรา 1 กก. ต่อ 50 กก. ต่อ 20 กก. ตามลำดับ ระหว่างผสมให้ฉีดพรมน้ำเพิ่มความชื้นกระตุ้นการขยายของเชื้อให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน (24 ชั่วโมง) ก่อนนำไปหว่านหรือใส่ถุงกระดาษหรือกระบอกไม้ไผ่แห้งแล้วนำไปฝังดินไว้เป็นจุด ๆ รอบบริเวณโคนต้นยางพารา โดยขุดหลุมให้ลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยดินที่ขุดขึ้นมาอย่างหลวม ๆ (ไม่กดดินจนแน่น) ตัวปลวกที่อยู่ในดินจะออกมากินถุงกระดาษและราเขียวที่อยู่ในถุง ทำให้เชื้อราเขียวติดไปกับตัวปลวกเข้าสู่ภายในรังปลวกและสามารถเข้าทำลายตัวปลวกให้ตายหมดทั้งรัง การใช้ราเขียวจำเป็นต้องหยุดสารเคมีหรือเคมีที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อรา ในระยะแรก ๆ ยังเห็นผลไม่ชัดเจน ควรกระทำซ้ำๆ 2-3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ครั้ง สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อได้ที่ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680–2หรือนักวิชาการชมรมฯ 081 – 3983128(คุณ เอกรินทร์ ช่วยชู)หรือติชมผ่านทาง email : thaigreenagro@gmail.com , ekkarin191@gmail.com )

ไม่มีความคิดเห็น: