วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาอุปสรรคของคนทำเห็ด (ตอน 4) เห็ดถุงกับอาการหยุดชะงักไม่เจริญต่อของเส้นใยหลังหยอดเชื้อ

สวัสดีครับ ... แฟนคลับชมรมเกษตรปลอดสารพิษทั้งเก่า-ใหม่ทุกๆท่านที่ให้ความไว้วางใจสนับสนุนงานวิชาการ สินค้าปลอดสารพิษเสมอมา ผู้เขียนและทีมงานชมรมฯรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายให้ความอุปการคุณ รวมถึงโอกาสในการนำเสนองานวิชาการ สินค้าคุณภาพในลำดับต่อไป สำหรับบทความวิชาการที่จะนำมาเสนอต่อท่านวันนี้ ผู้เขียนได้พิจารณาคัดกรองแล้วว่ามีความเหมาะสมต่อเกษตรกรผู้เพาะเห็ดโดยเฉพาะเห็ดถุงทั่วทุกภาคที่กำลังประสบปัญหาก้อนเห็ดไม่ออกดอก กล่าวรวมถึงนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ หน่วยงานภาครัฐเอกชนทุกท่านทุกองค์กรที่ให้ความสนใจหรือต้องการ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมีปราบศัตรูโรคพืช สำหรับปัญหาอุปสรรคของคนทำเห็ดหรือเพาะเห็ดที่มีผลเกี่ยวข้องกับการเดินหรือเจริญของเส้นใย สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ เส้นใยไม่เดินบนก้อนขี้เลื่อย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ 1.หัวเชื้อเห็ดเป็นเชื้ออ่อน หรือเชื้อเห็ดนั้นผ่านการแต่งเชื้อมาหลายครั้งแล้วทำให้เส้นใยอ่อนแอ 2.หัวเชื้อเห็ดมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปลอมปนและเจริญแข่งกับเส้นใยเห็ด 3.วัสดุที่ใช้เพาะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเห็ดโดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อราผู้เพาะควรเลือกวัสดุเพาะที่ปราศจาสารเคมี 4.สภาพความเป็นกรด - ด่าง (pH) ควรปรับให้อยู่ระหว่าง 6.5 - 6.8 จะช่วยให้เส้นใยเห็ดเจริญดีขึ้น 5.ส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ในขณะที่สภาพดังกล่าวเอื้อต่อการเจริญของเชื้อแบคทีเรียศัตรูเห็ด เส้นใยเดินบางมากและเมื่อนำไปเปิดดอกพบว่าจะไม่ค่อยเกิดดอกหรือให้ผลผลิตน้อยมาก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ 1.วัสดุที่ใช้เพาะสลายตัวเกือบหมดแล้ว ทำให้อาหารเหลืออยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย หรือใส่อาหารเสริมน้อยเกินไป ดังนั้นจึงควรใส่อาหารเสริมในอัตราส่วนที่เหมาะสม 2.การนึ่งฆ่าเชื้อไม่ดีพอ ทำให้จุลินทรีย์อื่นๆเจริญเติบโตแข่งกับเห็ดได้ ดังนั้นการนึ่งก้อนเชื้อควรใช้เวลาอย่างน้อย 2 - 3 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ 1.ถุงก้อนเชื้อมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญได้ดี แล้วเชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ 2.เชื้อเห็ดอ่อนแอ เมื่อเจริญได้ระยะหนึ่งแล้วก็ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นควรเลือกเชื้อที่แข็งแรง เห็ดออกดอกช้าหลังจากเปิดดอกแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 1.เกิดจากการเปิดปากถุงเร็วเกินไป หลังจากเส้นใยเดินเต็มแล้ว ควรปล่อยให้เส้นใยรัดตัวและมีการสะสมอาหารก่อนเปิดถุงประมาณ 8-10 วัน 2.การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนไม่ดี ทำให้มีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง 3.อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงหรือต่ำเกินไปหรือความชื้นไม่เพียงพอทำให้การพัฒนาของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดช้า ดอกเห็ดเกิดขึ้นแต่ไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ด โดยพบว่าบางครั้งดอกเห็ดเจริญเป็นดอกเล็กๆ บนก้อนเชื้อเต็มไปหมดแต่ดอกมีขนาดเล็กแล้วไม่เจริญต่อ ซ้ำดอกเห็ดจะเหี่ยวแห้งในที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 1.หัวเชื้อเห็ดอ่อนแอทำให้ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์ 2.การเปิดปากถุงกว้างเกินไปทำให้เส้นใยเจริญไปเป็น ดอกเห็ดจำนวนมากและ อาหารภายในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ ทำให้ดอกที่งอกออกมาแคระแกร็น และแห้งดังนั้นการเปิดปากถุงไม่ควรเปิดกว้างมากนัก 3.ความชื้นไม่เพียงพอทำให้ดอกที่กำลังเติบโตแห้งได้ 4.รดน้ำมากเกินไป และรดไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำขังในถุงพลาสติก ทำให้เห็ดภายในถุงพลาสติกเน่าเสียได้ 5.เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายก้อนเชื้อหลังเปิดถุง เนื่องจากโรงเรือนสกปรก 6.อาจมีแมลงเข้าไปกัดและทำลายก้อนเชื้อ แนวทางควบคุมป้องกันการหยุดชะงักไม่เจริญต่อของเส้นใยหลังหยอดเชื้อ โดยแบ่งเป็นกรณีๆ ดังนี้ 1.หลังหยอดหัวเชื้อข้าวฟางลงก้อน 5-7 วันแล้วพบว่าเชื้อไม่เดิน (หยุดนิ่งอยู่ที่เม็ดข้าวฟ่าง) กรณีเช่นนี้เกิดจากหัวเชื้ออ่อนหรือแก่เกินไปไม่เหมาะสมที่จะพักทิ้งไว้เพื่อให้เชื้อเจริญต่อเนื่องจากไม่คุ้มกับผลผลิตที่จะได้รับ 1.1นำก้อนเชื้อเห็ดที่พบอาการดังกล่าวไปนึ่งแล้วนำมาหยอดหัวเชื้อใหม่อีกครั้ง แต่ใช้หัวเชื้อจากแหล่งอื่น 1.2ให้ใช้จุลินทรีย์กำจัดศัตรูเห็ด (บาซิลลัส- พลายแก้ว , บีที-ชีวภาพ , บาซิลลัส-ไมโตฟากัส) ผสมทำก้อนเห็ดก่อนทำการนึ่งฆ่าเชื้อทุกครั้งเพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ศัตรูที่ติดมากับวัสดุเพาะซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวสามารถทนความร้อนได้ถึง 121 .C นาน 3 - 5 ชั่วโมง 2.เส้นใยเห็ดเดินได้ระยะหนึ่งแล้วหยุดนิ่งไม่เดินต่อซึ่งเกิดจากความชื้นในก้อนเห็ดมากเกินไป ให้นำก้อนเห็ดที่พบอาการดังกล่าวไปเทผสมวัสดุเพาะแล้วนำมานึ่งใหม่หรือใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มแทงบริเวณก้นถุงเพื่อระบายความชื้นบางส่วน (แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) 3.เห็ดออกดอกช้าผิดปกติหลังจากเปิดดอก โดยปกติดอกเห็ดจะสะสมอาหารนานประมาณ 8-10 วัน หากเกินจากนี้ให้ลองใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการเดินของเส้นใย (แร่ธาตุกระตุ้นดอกเห็ด) ฉีดพ่น 1-2 ครั้งหากกันประมาณ 3 วัน แล้วคอยสังเกตการเดินของเส้นใย หากพบว่าเส้นใยเดินเพิ่มหนาขึ้น สัณฐานได้ว่าอาหารภายในก้อนเชื้อมีปริมาณน้อยเกินไป 4.เส้นใยเห็ดไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ดหรือพัฒนาแต่ดอกเห็ดมีขนาดเล็กและเหี่ยวแห้งในที่สุด กรณีเช่นนี้ให้หมั่นเช็คอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนให้มีความเหมาะสมต่อเห็ดชนิดนั้นๆ (ควรมีการติดตั้งเครื่องอุณหภูมิและความชื้นไว้ในโรงเรือนอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งราคาทั่วไปไม่เกินชุดละ 700 บาท) เกษตรกรท่านใดสนใจหรือสงสัยสามารถสอบถามหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร.02-9861680-2 หรือ www.ekbiotechagro.blogspot.com (ศูนย์บริการข้อมูลทางวิชาการชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)หรือคุณเอกรินทร์(วัชนะ) ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)โทร.081-3983128 หรือติชมผ่านEmail : thaigreenagro@gmail.com , ekkarin191@gmail.com สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบพระคุณครูบาร์อาจารย์ที่ประสิทธ์ประสานวิชาและขาดมิได้ชมรมเกษตรปลอดสารพิษที่คอยสนับสนุ่นอยู่เบื้องหลังตลอดมา

ไม่มีความคิดเห็น: