วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดินมาร์ล กับความเหมาะสมต่อการปลูกพืช

การปลูกพืชแต่ละชนิดปัจจัยสำคัญที่จำเป็นที่สุดที่เกษตรกรจะต้องนึกเป็นอันดับแรกก็คือน้ำ รองลงมาคือดิน สภาพดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกต้องร่วนซุย อุ้มน้ำ ไม่แน่นแข็ง โปร่งพรุน ที่สำคัญต้องมีอินทรียวัตถุในดิน หากสภาพของดินที่ตรงข้ามจากที่กล่าวมาควรปรับปรุงสภาพดิน ส่วนกรด-ด่างของดินก็สำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากดินเป็นกรด-ด่างมากเกินไปจะทำให้ดินตรึงธาตุอาหารทั้งธาตุหลัก, ธาตุรอง และธาตุเสริม ทำให้ต้องเปลืองต้นทุนค่าปุ๋ย ยา ฮอร์โมนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งได้รับธาตุอาหารไม่ครบ ทำให้พืชอ่อนแอ โรคแมลงเข้าทำลายได้ง่ายและในดินมาร์ลก็เช่นเดียวกัน ดินมาร์ล (Marl)หรือดินเหนียวขาว เนื้อค่อนข้างร่วน องค์ประกอบหลักคือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ซึ่งเกิดจากการผุพังของหินปูน ประเทศไทยพบมากที่ ต.ท่าศาลา จ.ลพบุรี ,อ.บ้านหมอ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ,อ.เมือง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลำปาง ชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ บางส่วนนำไปปรับสภาพความเป็นกรดของดินในภาคเกษตรกรรม จนลืมคิดไปว่า “ดินมาร์ล” เกิดจากหินปูน เป็นดินด่างมีค่า pH สูงไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชควรมีค่ากรด-ด่าง (pH) ของดินอยู่ระหว่าง 5.8-6.3 เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่ดินจะละลายธาตุอาหารต่างๆ ให้พืชได้โดยไม่ตรึงเอาไว้ ซ้ำดินมาร์ลยังมีอินทรียวัตถุน้อย ไม่จับตรึงปุ๋ยหรือธาตุอาหาร หน้าแล้งดินแน่นแข็ง สภาพดินดังกล่าวทำให้ต้องสิ้นเปลืองต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ย เมื่อพบว่าดินเพาะปลูกมีสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้นควรปรับปรุงสภาพดินโดยการหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง โสน ฯลฯ แล้วไถพรวนกลบเพิ่มอินทรีย์วัตถุ จากนั้นทำการปรับสภาพดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม ผสมร่วมกับภูไมท์ซัลเฟตถุงแดง 60 กิโลกรัมและโพแทสเซียมฮิวเมท 1 กิโลกรัมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนนำไปหว่านให้ทั่วทั้งแปลงปลูก ในอัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่แล้วไถพรวนกลบอีกครั้ง ก่อนลงปลูกกล้าพันธุ์ให้หว่านรองพื้นด้วย พูมิชซัลเฟอร์ ในอัตรา 40 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อปรับค่า pH ของดินและเพิ่มธาตุอาหารให้มีปริมาณที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ของพืช นอกเหนือจากคุณสมบัติของธาตุอาหารแล้วภูไมท์ซัลเฟตถุงแดง และพูมิชซัลเฟอร์ยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำแต่ซึมผ่านได้ง่าย ระบายได้ดี ไล่เกลือออกจากเนื้อดิน เพิ่มออกซิเจนในดิน ช่วยสลายสารพิษตกค้างในดิน ช่วยเพิ่มกำมะถันหรือซัลเฟอร์ให้แก่ดิน ช่วยตรึงปุ๋ยให้ละลายช้าลดการชะล้างเวลาฝนตก ใช้ปุ๋ยน้อยลงผลผลิตเพิ่มขึ้น ประหยัดต้นทุน เกษตรกรท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร. 02-9861680 -2 หรือคุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ) โทร. 081-3983128 เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คุณธรรมคนทำเห็ด เมื่อแมลงหวี่ แมลงวันสร้างความรำคาญรบกวนในโรงเห็ด

เห็ด แหล่งอาหารที่สำคัญในอนาคตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกอย่างรุนแรง ฉับไว และยากที่จะควบคุมได้ ทำให้พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดผลิตได้ยากยิ่ง นับวันยิ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลก ประชากรกว่าพันล้านคนต้องขาดสารอาหาร เห็ดเป็นอาหารที่สามารถแทนพืชได้อย่างสมบูรณ์ และง่ายในการผลิตภายใต้ภาวะอากาศเช่นนี้ ควบคุมดูแลง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมี ใช้พื้นที่น้อย ต้นทุนไม่สูง ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนหรือปุ๋ยใดๆ เร่งการเจริญเติบโต นอกจากจะเป็นอาหารแล้วเห็ดยังเป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย ที่สำคัญรสชาติดีอย่าบอกใครเชียว แล้ววันนี้คุณรับประทานเห็ดหรือยัง ? เกษตรกรที่เพาะเห็ดส่วนใหญ่มักประสบปัญหาการเข้าทำลายของหนอนแมลงหวี่ แมลงวัน มักเกิดขึ้นหลังเปิดดอกเห็ดแล้ว ซึ่งมีทั้งหนอนขนาดเล็กสีน้ำตาล จนถึงขนาดใหญ่เท่าหัวไม้ขีด กัดกินทำลายเส้นใยทำให้ก้อนเห็ดเน่า เสีย อายุเก็บเกี่ยวสั้นลง นอกจากนั้นตัวเต็มที่พัฒนาเป็นแมลงหวี่ ยังสร้างความรำคาญแก่ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรือนเห็ด และปัญหาที่ว่านี้ไม่ควรแก้ปัญหาโดยการฉีดพ่นสารเคมี เพราะเห็ดเจริญเติบโตไว ต้องเก็บจำหน่ายทุกวัน หากฉีดพ่นสารเคมีจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย ทั่วไปผู้ผลิตเห็ดที่มีคุณธรรมมักจะไม่ใช้สารเคมีในการแก้ปัญหาที่ว่านี้ แต่จะเน้นการจัดการฟาร์มให้สะอาด ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก และกำจัดก้อนเชื้อเห็ดที่มีตัวหนอนทำลายไม่ให้มีการแพร่ระบาดต่อ ส่วนการควบคุมป้องกันกำจัดนั้นต้องคอยหมั่นดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเห็ดที่เพาะอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการป้องกันมากกว่าการกำจัด ซึ่งมีขั้นตอนการจัดการดังต่อไปนี้ 1.ทำความสะอาดโรงเรือนเพาะหรือหากเป็นโรงเรือนเก่าที่เคยเพาะเห็ดมาแล้วควรว่างเว้น พักทำความสะอาด กำจัดแมลง ไรและเชื้อรา 2.คัดเลือกเชื้อพันธุ์เห็ดหรือก้อนเชื้อเห็ดจากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดทำลายของแมลงวันศัตรูเห็ดมาก่อน หากไม่ทราบแหล่งที่มาของถุงก้อนเชื้อเห็ด ในขณะที่เส้นใยเห็ดเดินมากกว่า 25 % หรือก่อนเปิดดอกควรฉีดพ่น ด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์บ ซึ่งมีขมิ้นชัน,ฟ้าทะลายโจร,ตะไคร้หอมเป็นส่วนผสม ในอัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตรงก้อนและบริเวณรอบๆ ที่บ่มก้อนเชื้อ 3.ก่อนนำเข้าเปิดดอกในโรงเรือนควรคัดทิ้งถุงก้อนเชื้อเห็ดที่แสดงอาการเข้าทำลายของแมลง โรค เชื้อราและไร หรือหากไม่แน่ใจควรแยกกองไว้ต่างหาก 4.ติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 8-10 จุดต่อโรงเรือน แขวนสูงจากพื้นโรงเรือน 1.50 -1.80 เมตร ซึ่งไม่ขวางหรือเกะกะการเข้าปฏิบัติงานและควรเปลี่ยนกับดักกาวเหนียว เมื่อพบว่ามีตัวแมลงมาติดจนเต็มหรือประมาณ 45-60 วันครั้ง 5.ช่วงเปิดดอกหากพบมีการระบาดของหนอนรุนแรงให้ใช้เชื้อบาซิลลัส ธูริงเจนซิส หมักขยายเชื้อด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน (วิธีตามฉลากข้างกระป๋อง) นาน 24 -48ชั่วโมง ก่อนนำมาผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นทั่วทั้งก้อนแต่ไม่แฉะเกินไป 1-2 วันครั้ง ติดต่อกัน 3ครั้ง จะช่วยลดปัญหาได้ถึง 80 -90 % ลดความเสียหายของผลผลิตได้เป็นอย่างดี 6.ช่วงเก็บดอกหากพบแมลงวันบินไป-มามากผิดปกติ ให้ฉีดพ่นด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์บรอบๆ โรงเรือนเว้นระยะประมาณ 4-5 วันครั้ง และเพิ่มจำนวนกับดักกาวเหนียวเหลืองเป็น 16 -20 จุดต่อโรงเรือน และควรแขวนไว้ใกล้ๆ มุมอับ เนื่องจากตัวเต็มวัยของแมลงวันชอบเกาะอยู่ที่มุมอับของโรงเรือน 7.เมื่อสิ้นสุดการเก็บดอกเห็ดแล้ว ถุงก้อนเชื้อเห็ดที่พบการทำลายของหนอนแมลงวันควรทำการฝังหรือเผาทิ้ง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง เชื้อโรคและไรศัตรูเห็ด ไมให้แพร่กระจายเข้าสู่โรงเรือนเพาะเห็ดข้างเคียงต่อไป 8.การพักโรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในระหว่างพักโรงเรือน เปิดโรงเรือนทิ้งไว้ 5-7 วัน จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์ อัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร หรือผงซักฟอก เมื่อแห้งแล้วจึงปิดโรงเรือน 7-10 วัน แล้วฉีดพ่นด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์ปร่วมกับบาซิลลัส –พลายแก้ว (กำจัดรา)และบาซิลลัส-ไมโตฟากัส (กำจัดไรเห็ด) ให้ทั่วทั้งโรงเรือน 3-5 วันครั้ง ติดต่อกัน 2 ครั้ง ก่อนจะนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่เข้าเปิดดอกต่อไป มิตรเกษตรกรท่านใดที่กำลังเพาะเห็ดอยู่ แล้วมีปัญหาแมลงวันหรือแมลงหวี่รบกวน แก้ปัญหาไม่ตก สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ (02-9861680 -2) หรือคุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128) เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ) ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทริปโตฝาจจุลินทรีย์ควบคุมกำจัดด้วงแรดมะพร้าว

ด้วงแรด ที่พบในแปลงมะพร้าวนั้นจะเข้าทำลายโดยการกัดกินยอดอ่อนมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์มทุกชนิด ซึ่งจะออกหากินในเวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำถึงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และมักพบบินออกมาเล่นไฟหลังฝนตกใหม่ ในสภาพธรรมชาติที่มีความสมดุลยังไม่พบการระบาด แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเกษตรกร ทำให้มีแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงชนิดนี้มีมากขึ้น สำหรับแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงชนิดนี้ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้นตอมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมัน ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กองมูลสัตว์เก่า กองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว กากเมล็ดกาแฟ กากปาล์มน้ำมัน รวมทั้งซากพืชต่างๆ ที่เน่าเปื่อย โดยเฉพาะตัวเต็มวัยเป็นศัตรูพืชหมายเลขหนึ่ง กล่าวคือจะบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบของมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมัน รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด การนำเชื้อจุลินทรีย์ทริปโตฝาจที่มีส่วนผสมของราเขียวเมธาไรเซียมมาควบคุมจำนวนประชากรของด้วงชนิดนี้ เป็นวิธีควบคุมป้องกันที่ได้ผลระยะยาว ไม่มีสารพิษตกค้าง มีความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมสูง จุลินทรีย์ที่กล่าวนี้มีความทนต่อสภาพแวดล้อมและสามารถอยู่ในดินได้ข้ามปี มีความเฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มแมลงอาศัย การใช้จุลินทรีย์ทริปโตฝาจเพื่อการควบคุมด้วงแรดมะพร้าวแบบง่ายได้ผล ส่วนใหญ่จะคลุกผสมลงในกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือแหล่งที่พบการระบาดเพื่อทำลายตัวหนอนที่อยู่ในดิน ซึ่งราเขียวเมธาไรเซียมในทริปโตฝาจเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในแมลง ส่วนใหญ่ใช้กำจัดแมลงในดินกลุ่มหนอนด้วงต่างๆ อย่างหนอนด้วงมะพร้าว นอกจากนี้พบว่าสามารถใช้ควบคุมป้องกันการเข้าทำลายของตั๊กแตน มวน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อย่างได้ผลอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วระยะตัวหนอน ดักแด้ พบว่าใช้ได้ผลดีที่สุด ซึ่งเชื้อรากลุ่มนี้จะเข้าทำลายแมลงโดยเจาะผ่านผนังลำตัว รูหายใจ เมื่อใดสภาพความชื้นอุณหภูมิเหมาะสม ก็จะงอกแทงทะลุผ่านผนังลำตัวเข้าสู่เนื้อเยื่อ ทำลายชั้นไขมันดูดซึมอาหารในลำตัวแมลงจนแห้งตาย แข็งเป็นมัมมี่ ในช่วงแรกจะพบเส้นใยสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวในเวลาต่อมา การนำจุลินทรีย์ทริปโตฝาจมาใช้ในสวนมะพร้าวให้ได้ผล เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับการจัดการสวน ใช่ว่าฉีดพ่นแล้วก็แล้วกัน ไม่เคยเอาใจใส่หรือเข้าสวนเลยสักครั้ง คอยสั่งลูกน้องเพียงอย่างเดียว ลองคิดดูแล้วกันว่าจะได้ผลแค่ใหน อันที่จริงแล้วการดูแลจัดการสวนที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกด้วยซ้ำ สำหรับการควบคุมจำนวนประชากรด้วงโดยใช้กลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ทริปโตฝาจ ป้องกันการระบาดหรือยับยั้งการทำลายสามารถกระทำได้ต่อไปนี้ 1.หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าว ตามโคนต้น ทางใบ หากพบรอยแผลเป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย แล้วหว่านผงจุลินทรีย์ทริปโตฝาจบริเวณคอมะพร้าวเพื่อกำจัดไข่ และตัวเต็มวัย 2.นำผงเชื้อจุลินทรีย์ทริปโตฝาจ อัตรา 500 กรัม ผสมน้ำเปล่า 200 ลิตร ฉีดพ่นบนใบใต้ใบมะพร้าว ช่วงอายุ 1-3 ปี ที่พบการเข้าทำลายของด้วง หรือหว่านบริเวณคอ ทางใบป้องกันกำจัดไข่ และตัวเต็มวัย 3.สร้างบ้านให้อยู่หรือกับดักล่อด้วงแรด โดยเตรียมไม้ตีเป็นกระบะ กว้าง X ยาว X สูง ขนาด 2 X 2 X 0.5 เมตร ในพื้นที่ที่พบการระบาด เพื่อล่อให้ตัวเต็มวัยมาผสมพันธุ์วางไข่ วัสดุที่นำมาหมักควรหาได้ง่ายด้วงแรดชอบ อย่างเช่น ขุยมะพร้าว ขี้เลื่อย ขี้วัว แกลบ เศษหญ้า เป็นต้น ใช้สัดส่วนส่วนเท่าๆ กัน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะจนเกินไป ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายตัวและอุณหภูมิภายในเย็นลง จากนั้นให้นำเชื้อจุลินทรีย์ทริปโตฝาจไปหว่านโรยบนกองปุ๋ยหมักในอัตรา 500 กรัมต่อกอง เมื่อตัวด้วงมาวางไข่ในกองปุ๋ยดังกล่าว ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ จะติดเชื้อโรคแล้วถูกทำลายด้วยกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ทริปโตฝาจ ทั้งนี้ต้องคอยควบคุมกองปุ๋ยหมักให้มีความชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เชื้อดังกล่าวสามารถงอก เจริญเติบโตได้ผลสูงสุด กลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้จะอยู่และมีประสิทธิภาพในการกำจัดไข่ หนอน ดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าวได้นานประมาณ 6 -12 เดือน มิตรเกษตรท่านใดที่ปลูกมะพร้าวหรือกำลังศึกษาหรือกำลังจะลงปลูกให้หันมาศึกษาโรคแมลงศัตรูของมะพร้าวหรือพืชที่ท่านจะปลูกกันสักนิด เพื่อประโยชน์ของท่านในการจัดการ ป้องกันกำจัด เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต กำไรในระยะยาว หากติดปัญหาต้องการสอบถามเพิ่มสามารถติดต่อได้ที่คุณเอกรินทร์ ช่วยชู โทร. 081-3983128

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความจริงของการดูแลจัดการสวนปาล์มน้ำมัน

เมื่อกล่าวถึงปาล์มน้ำมันเกษตรกรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับพันธุ์ปาล์มน้ำมันมากกว่าการจัดการสวน พื้นปลูก มุ่งเน้นไปที่พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร เมื่อปลูกแล้วไม่เคยเอาใจใส่หรือเข้าสวนเลยสักครั้ง ลองคิดดูแล้วกันว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ความเป็นจริงของการดูแลจัดการสวนปาล์มน้ำมันนั้นเริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกด้วยซ้ำ ซึ่งพอกล่าวได้ต่อไปนี้ 1. ปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน กล่าวหยาบๆ คือทำไงก็ได้ให้ระดับน้ำต่ำกว่าระดับผิวดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 1 เมตร 2. วางระยะปลูกให้เหมาะสม ทุกวันนี้แนะนำส่งเสริมกันอย่างตะพึดตะพือว่า ระหว่างต้นต้อง 9 เมตร บางที่น้อยกว่า 9 เมตรด้วยซ้ำ เท่าที่ลงแปลงส่งเสริมแนะนำเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันในหลายพื้นที่พบว่ามีปัญหาดังกล่าวทุกสายพันธุ์ เนื่องจากระยะห่างน้อยเกินไปทำให้ทางใบสานกัน ต้นสูงเร็วเกินไป ส่งผลให้ผลิตน้อยกว่าปกติ กระทั่งปาล์มทางสั้นที่แนะนำให้ปลูกใน 9 เมตรก็ตาม อย่าลืมว่าปาล์มน้ำมันที่เจริญเติบโตเต็มที่ ทางใบยาวเต็มที่ ทะลายใหญ่เต็มที่ อย่างเร็วปลูกไปแล้ว 6 ปี ปัญหาก็คือ 4 ปีแรก ทางใบจะดูสั้นๆ ซึ่งจะเกิดกับทุกพันธุ์กว่าจะรู้ตัวว่าปลูกชิดก็เข้าปีที่ 6 ยิ่งเกษตรกรเจ้าของสวนไม่เอาใจใส่ยิ่งไม่มีทางรู้เลย ระยะเวลา 9 -10 ปีแทบไม่มีทะลายให้เชยชมเลย นี่คือความเป็นจริงในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่ไม่มีใครกล่าวถึง อยากแนะนำว่าควรปลูกระยะที่ 10เมตร ดินดีอาจต้องเพิ่มระยะห่างออกไปถึง 13 เมตร เคยมีบางหน่วยงานบางบริษัททดลองปลูกปาล์มในระยะ 9 เมตร เทียบกับกับระยะ 10 เมตร ในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ดูแลจัดการเหมือนกัน อายุปาล์ม 6 ปีขึ้นไป เนื้อที่ปลูกเท่ากันตัดผลผลิตได้เท่ากัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ระยะปลูก 10 เมตร ใส่ปุ๋ยต่อไร่น้อยกว่า ดูแลต้นน้อยกว่า แต่งทางน้อยกว่า และเมื่อต้นปาล์มอายุ 10 ปีนับจากวันลงปลูก ส่วนสูงต่างกัน ประมาณ 1-1.5 เมตร นั่นแปลว่าแปลงที่ปลูกระยะ 9 เมตร ต้องโค่นก่อนแน่นอน 3. การปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสม มีชีวิตมีจุลินทรีย์ ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก(มูลโค มูลไก่ มูลสุกร) หรือปุ๋ยหมักร่วมกับพูมิชซัลเฟอร์ เนื่องจากเป็นหินแร่ภูเขาไฟ มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรมให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช สามารถปลดปล่อย เคลื่อนย้าย เพิ่มธาตุอาหารในดินที่มีประโยชน์ให้ต้นพืชได้อย่างสมดุล ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารพืชต่างๆ ต่อไปนี้ - ซิลิซิค แอซิค ( H4SiO4) : ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เซลล์พืช ลดการเข้าทำลายของแมลง ไร รา ศัตรูโรค * หากกรณีใส่ทางดิน ช่วยเพิ่มซิลิก้าในดิน ตรึงสารพิษไม่ให้เป็นอันตรายต่อพืช และช่วยอุ้มน้ำป้องกันดินแห้ง - แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3 ) : ช่วยในการแบ่งเซลล์ที่ปลายรากและยอด ช่วยสร้างโครงสร้างของโครโมโซม ช่วยในการทำงานของเอนไซม์และธาตุบางธาตุ ช่วยลดความเป็นพิษจากสารพิษต่าง ๆ ช่วยในการงอกและการเจริญเติบโตของละอองเกสรตัวผู้ (pollen) - แมกนีเซียมคาร์บอเนต (MgCO3 ) : เป็นสารประกอบของคลอโรฟิลล์ เอนไซม์ ช่วยสร้างเม็ดสี (pigments) และสารสีเขียว ช่วยในการเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืชร่วมกับกำมะถันในการสังเคราะห์น้ำมัน ดูดซับฟอสฟอรัสและควบคุมปริมาณแคลเซียมในพืช - ฟอสฟอริก แอซิค ( H2PO4- ): ช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างแป้งน้ำตาล ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากทำให้ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่ายและต้านทานโรค ช่วยให้พืชแก่เร็ว ช่วยในการสร้างดอกและเมล็ด และช่วยให้พืชดูดไนโตรเจน โพแทสเซียมและโมลิบดินัมได้ดีขึ้น - ซัลเฟอร์หรือกำมะถัน (So42- ) : ช่วยการเจริญเติบโตของราก เป็นส่วนประกอบของสารประกอบหลายชนิดเช่น วิตามินบี 1 และ บี 3 กรดอะมิโน ช่วยสร้างคลอโรฟีลล์ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เพิ่มไขมันในพืชและควบคุมการทำงานของแคลเซียม - เหล็ก (Fe): เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์สำหรับสร้างคลอโรฟิลล์และ Cytochrome ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหายใจ สร้างโปรตีนและดูดซับธาตุอาหารอื่น - สังกะสี (Zn) : ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน คลอโรฟีลล์และฮอร์โมน IAA (Indole Acetic Acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ เอนไซม์ ช่วยให้การทำงานของฟอสฟอรัสและไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเป็นปกติ สมบูรณ์เพศและมีส่งผลต่อการสุกแก่ของพืช ข้อดีที่กล่าวนี้ทำให้เกษตรกรให้ความสนใจถามหานำไปใช้เพื่อเพิ่มธาตุอาหาร ปรับค่า pH ในดิน ช่วยสร้างเพิ่มจุลินทรีย์ในดินพร้อมๆ ส่วนการเพิ่มธาตุอาหารหลักอย่าง N P K ยังคงต้องพึ่งปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ลูกมาก ใครคิดจะใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกล้วนๆ จะต้องใส่ต้นละประมาณ 1 ตัน/ปี กันเลยจึงจะเพียงพอ ลองคิดดูแล้วกันว่าต้นทุนจะสูงขนาดไหน แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกสักทีเดียว นั้นคือใช้พูมิชซัลเฟอร์ที่ว่าผสมปุ๋ยเคมี (1 : 1) ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก (1 : 2) ผสมเป็นปุ๋ยละลายช้า 4. การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่ถูกต้อง ถูกสัดส่วน ถูกเวลา และถูกที่ กระทำได้ต่อไปนี้ - ถูกต้อง นั่นคือแบ่งใส่น้อยแต่บ่อยครั้งดีกว่านานๆใส่ครั้งแต่ใส่หนักมือ - ถูกสัดส่วน พืชทุกชนิดต้องการธาตุอาหารหลัก คือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) โดยในสัดส่วนของ N:P:K ที่ไม่เท่ากัน สำหรับปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้วต้องการในสัดส่วนประมาณ 2:1:4 ถึง 3:1:7 ขึ้นกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ - ถูกเวลา กล่าวคือช่วงหน้าแล้งหรือฝนตกหนัก ห้ามใส่ปุ๋ยเด็ดขาด ให้ใส่ช่วงที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ มีฝนตกประราย - ถูกที่ การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน คือแรกปลูกใส่ห่างจากโคนประมาณ 1 คืบ เมื่อแตกพุ่มแล้ว ให้ใส่ราวช่วงระยะ 1 ใน 3 จากปลายใบเข้าไป ไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพราะนั่นเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้น โบรอนพืชให้ใส่ตามเงาปลายใบ อย่าใส่ที่โคนหรือกาบใบเป็นอันขาด 5. การแต่งทางใบให้จำง่ายๆ ว่าปลูกไปแล้วอย่างน้อย 36 เดือน จึงจะเริ่มแต่งทางใบได้ หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือทะลายล่างสุดต้องมีทางเหลืออยู่ 2 ชั้น ภาษาสวนปาล์มเรียก ทางเลี้ยง(ทางใบที่ติดกับทะลายกับทางรับ ถ้าแต่งมากกว่านี้จะทำให้ต้นปาล์มจะโทรม ส่วนปาล์มที่ใช้เคียวจึงจะแต่งเหลือแค่ทางเลี้ยงอย่างเดียว 6. การใช้สารกำจัดวัชพืชในสวนปาล์ม ควรหลีกเลี่ยงเคมีประเภทดูดซึมเด็ดขาดหรือเลิกใช้เคมีได้ก็จะเป็นเรื่องดี ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้ต้นปาล์มจะชะงักการเจริญเติบโต ให้พึงระลึกเสมอว่าการดูแลจัดการสวนมีความสำคัญ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว จะทำให้ดีหรือเลวสุดๆก็ยังได้ อย่าเชื่อคำโฆษณา ผลงานในแปลงปลูกเป็นตัวประจานเจ้าของและสายพันธุ์ปาล์ม พี่น้องเกษตรกรท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหาซื้อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้ที่คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ) โทร. 081-3983128

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเซียริดหรือแมลงหวี่ปีกดำศัตรูเห็ด

หนอนแมลงวันเซียริดหรือแมลงหวี่เห็ดปีกดำ ส่วนหัวจะมีจุดสีดำเล็กๆ เห็นได้ชัดเจน มีลำตัวสีขาวอมส้มอ่อนๆ ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว กินจุ ประมาณ 10 วันก็เริ่มเข้าดักแด้ ช่วงแรกๆ จะเป็นสีขาวแล้วค่อยๆ เข้มจนเป็นสีดำ ก่อนจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยที่มีลักษณะมีสีดำโดยเฉพาะที่ปีก ลำตัวมีขนาด 2-3 มิลลิเมตร ช่วงท้องแคบ ตัวเต็มวัยจะไม่ทำลายกัดกินเห็ดแต่อย่างใด วงจรชีวิตตั้งแต่วางไข่จนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 25-30วัน ผ่านมาพบระบาดนำความเสียหายมาสู่ประเทศไทยประมาณ 30%โดยพบในเห็ดหูหนูที่เพาะด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่ อ.แกลง จ.ระยอง ทำให้ดอกเห็ดเสียหาย คุณภาพลดลงและราคาก็ลดต่ำลงจากเดิมกว่า 70% และต่อมาพบในเห็ดแชมปิญองที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ เสียหายทำให้ผลผลิตลดลง 26-40% การเข้าทำลายส่วนใหญ่ มักพบในเห็ดหูหนู เห็ดแชมปิญอง เห็ดนางรม และเห็ดที่เพาะในถุงพลาสติกโดยทั่วไป ซึ่งจะพบหนอนแมลงวันดังกล่าวนี้ระบาดเกือบตลอดปีโดยเฉพาะเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ในระยะเห็ดออกดอกก็จะพบเห็นตัวเต็มวัยประมาณ 5-10 % บินวนไป-มาอยู่เสมอๆ อีกประมาณ 70 % กำลังฟักออกจากดักแด้ในช่วงเช้าของทุกวัน จากนั้นจะเกาะตามผนังและมุมอับของโรงเรือน การควบคุมป้องกันกำจัดต้องคอยหมั่นดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเห็ดที่เพาะอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการป้องกันมากกว่าการกำจัด ซึ่งมีขั้นตอนการจัดการแมลงวันดังกล่าวดังต่อไปนี้ 1.ทำความสะอาดโรงเรือนเพาะเห็ดหรือหากเป็นโรงเรือนเก่าที่เคยเพาะเห็ดมาแล้วควรว่างเว้น พักทำความสะอาด กำจัดแมลง ไรและเชื้อรา 2.คัดเลือกเชื้อพันธุ์เห็ดหรือก้อนเชื้อเห็ดจากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดทำลายของแมลงวันศัตรูเห็ดมาก่อน หากไม่ทราบแหล่งที่มาของถุงก้อนเชื้อเห็ด ในขณะที่เส้นใยเห็ดเดินมากกว่า 25 % หรือก่อนเปิดดอกควรฉีดพ่น ด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์บ ซึ่งมีขมิ้นชัน,ฟ้าทะลายโจร,ตะไคร้หอมเป็นส่วนผสม ในอัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตรงก้อนและบริเวณรอบๆ ที่บ่มก้อนเชื้อ 3.ก่อนนำเข้าเปิดดอกในโรงเรือนควรคัดทิ้งถุงก้อนเชื้อเห็ดที่แสดงอาการเข้าทำลายของแมลง โรค เชื้อราและไร หรือหากไม่แน่ใจควรแยกกองไว้ต่างหาก 4.ติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 8-10 จุดต่อโรงเรือน แขวนสูงจากพื้นโรงเรือน 1.50-1.80 เมตร ซึ่งไม่ขวางหรือเกะกะการเข้าปฏิบัติงานและควรเปลี่ยนกับดักกาวเหนียว เมื่อพบว่ามีตัวแมลงมาติดจนเต็มหรือประมาณ 45-60 วันครั้ง 5.ช่วงเปิดดอกหากพบมีการระบาดของหนอนรุนแรงให้ใช้เชื้อบาซิลลัส ธูริงเจนซิส หมักขยายเชื้อด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน (วิธีตามฉลากข้างกระป๋อง) นาน 24-48ชั่วโมง ก่อนนำมาผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นทั่วทั้งก้อนแต่ไม่แฉะเกินไป 1-2 วันครั้ง ติดต่อกัน 3ครั้ง จะช่วยลดปัญหาได้ถึง 80 -90 % ลดความเสียหายของผลผลิตได้เป็นอย่างดี 6.ช่วงเก็บดอกหากพบแมลงวันบินไป-มามากผิดปกติ ให้ฉีดพ่นด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์บรอบๆ โรงเรียนเว้นระยะประมาณ 4-5 วันครั้ง และเพิ่มจำนวนกับดักกาวเหนียวเหลืองเป็น 16-20 จุดต่อโรงเรือน และควรแขวนไว้ใกล้ๆ มุมอับ เนื่องจากตัวเต็มวัยของแมลงวันชอบเกาะอยู่ที่มุมอับของโรงเรือน 7.เมื่อสิ้นสุดการเก็บดอกเห็ดแล้ว ถุงก้อนเชื้อเห็ดที่พบการทำลายของหนอนแมลงวันควรทำการฝังหรือเผาทิ้ง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง เชื้อโรคและไรศัตรูเห็ด ไมให้แพร่กระจายเข้าสู่โรงเรือนเพาะเห็ดข้างเคียงต่อไป 8.การพักโรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในระหว่างพักโรงเรือน เปิดโรงเรือนทิ้งไว้ 5-7 วัน จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์ อัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร หรือผงซักฟอก เมื่อแห้งแล้วจึงปิดโรงเรือน 7-10 วัน แล้วฉีดพ่นด้วยสมุนไพรรวมไทเกอร์เฮิร์ปร่วมกับบาซิลลัส –พลายแก้ว (กำจัดรา)และบาซิลลัส-ไมโตฟากัส (กำจัดไรเห็ด) ให้ทั่วทั้งโรงเรือน 3-5 วันครั้ง ติดต่อกัน 2 ครั้ง ก่อนจะนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่เข้าเปิดดอกต่อไป พี่น้องเกษตรกรท่านใดที่กำลังเพาะเห็ดอยู่ แล้วมีปัญหาแมลงวันหรือแมลงหวี่รบกวน แก้ปัญหาไม่ตก สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128)

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

การป้องกันรักษาหน้ายางเปิดกรีดช่วงฝนชุก

ทุกวันนี้ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันออกฝั่งตะวันตก จะเป็นช่วงเช้าหรือบ่าย จะเป็นคนหรือต้นยางพาราก็แทบไม่มีโอกาสได้รับแสงตะวัน และคิดว่าน่าจะไม่มีแสงแดดแน่นอนในวันนี้นอกจากสายฝนที่โปรยปรายลงมาเรื่อยๆ สภาพอากาศแบบนี้ หากติดต่อกัน 3 -4 วัน และในแต่ละวันมีแสงแดดให้แก่สวนยางพาราน้อยกว่า 3 ชั่วโมง ก็จะส่งผลให้ความชื้นในสวนยางพารามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเหมาะแก่การเจริญเติบโตแพร่กระจายของเชื้อราที่จะทำให้เกิดโรคต่อยางพารา อาทิเช่น โรคใบร่วงและฝักเน่าฟัยท็อปเทอร่า โรคเปลือกเน่า โรคเส้นดำ ยืนต้นตาย ฯลฯ สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคที่จะเกิดบริเวณหน้ายางกรีด นั้นคือ โรคเปลือกเน่าและโรคเส้นดำ ชาวสวนควรหยุดกรีดยางในช่วงฝนตกชุกที่ตกติดต่อกันหลายๆ วัน จนสิ้นฤดูฝนโดยเฉพาะสวนยางพาราที่เพิ่งเปิดกรีดในระยะ 1-3 ปีแรก ต้องให้ความสำคัญให้มากเพราะมีโอกาสที่หน้ายางกรีดจะเน่าเปื่อยได้ง่ายกว่ายางพาราที่มีอายุการกรีดมาก โดยก่อนหยุดกรีดยางก็ควรฉีดพ่นด้วยฟังก์กัสเคลียร์หรือทาหน้ายางด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่า ซึ่งพอสรุปแนวทางการดูแลสวนยางพาราช่วงหน้าฝนได้ดังต่อไปนี้ 1.จัดการสวนยางพาราให้โล่งหรือโปร่งเพื่อระบายความชื้นในสวนยางให้ลดลง 2.กรณีฝนตกไม่ชุก พอจะกรีดยางได้ ให้ฉีดพ่นฟังก์กัสเคลียร์ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือทาหน้ายางด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่าผสมน้ำพอเหลว โดยควรฉีดพ่นหรือทาภายในระยะเวลาที่ไม่เกิน 12 ชั่วโมงหลังกรีดเสร็จเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากไม่สามารถทำได้ ให้ฉีดพ่นหรือทาหน้ายางสัปดาห์ครั้งจนหมดช่วงฤดูฝน 3.การใช้มีดกรีดยางก็เช่นเดียวกัน ควรระวังเชื้อราที่จะติดไปกับมีดกรีดยางจากต้นสู่ต้น จึงควรพกภาชนะเล็กๆ แล้วใส่สารละลายฟังก์กัสเคลียร์สำหรับจุ่มมีดฆ่าเชื้อทุกครั้งที่กรีดเสร็จ 1 ต้น 4.หากเชื้อราเข้าทำลายหน้ายางแล้ว ควรเฉือนส่วนที่เป็นโรคออก แล้วฉีดพ่นฟังก์กัสเคลียร์หรือทาด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่าทันที หากเราสังเกตหน้ากรีดในสวนยางพาราโดยทั่วๆ ไป ก็จะพบว่าชาวสวนยางส่วนใหญ่จะใช้เคมีอันตรายป้องกันกำจัดการเข้าทำลายของเชื้อราดังกล่าวนั้นมากกว่าการใช้จุลินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์กำจัด จะเห็นได้จากเป็นแถบสีแดงๆ ที่ติดอยู่เป็นบริเวณหน้ายางซึ่งยาดังกล่าวจะมียาฆ่าเชื้อราผสมอยู่ด้วย ฉะนั้นช่วงหน้าฝนหากสามารถหยุดกรีดยางได้ก็จะเป็นการดี หน้ายางของเราจะปลอดภัยต่อโรคเปลือกเน่าและโรคเส้นดำ ซึ่งการป้องกันกระทำง่ายกว่าการรักษาเยียวยา เพราะฉะนั้นรักษาหน้ายางเอาไว้ค่อยกรีดทำเงินเมื่อพ้นหน้าฝนดีกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ก็ให้กรีดหน้ายางวันที่ฝนหยุดตกแล้วปฏิบัติตาม ข้อ 2 ข้างต้น ก็สามารรถช่วยได้ในระดับหนึ่งประมาณ 50 -60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดที่ประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้นหรือสงสัยต้องการสอบถามปัญหา ขอเอกสารเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128)

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

เห็ด : ขอบหมวกดอกหงิก เหี่ยวแห้ง เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคจริงหรือ ?

ลักษณะดังกล่าวเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือน นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เชื้ออ่อนแอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป หรืออากาศร้อนจัด เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคสาเหตุแต่อย่างใด ตามความเข้าใจของผู้เพาะเห็ด ความผิดปกติของดอกเห็ดที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการขอบดอกหงิกในเห็ดสกุลนางรม ซึ่งได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดเป๋าอื้อ ลักษณะอาการของดอกหงิกที่พบในเห็ดนางรมและเห็ดภูฐานจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั้นคือ ดอกเห็ดเกิดเป็นกระจุกๆ ละหลายดอก ประมาณ 5-15 ดอก แต่ละดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร บางดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 4 ซม. หมวกดอกไม่บานหรือไม่คลี่ออก ก้านดอกอาจเกิดเดี่ยวหรือติดเป็นเนื้อเดียวกันจากก้านของดอกเห็ด 3-4 ดอก ไม่มีลักษณะของหมวกดอกปกติให้เห็น ขอบหมวกหงิกงอหยักไปมา หรือขอบหมวกม้วนออก ส่วนอีกลักษณะหนึ่งที่พบ คือ มีความผิดปกติที่ก้านซึ่งค่อนข้างยาวบิดเบี้ยวไม่มีหมวกเห็ด หรือก้านดอกเห็ดใหญ่ผิดปกติ หมวกดอกมีลักษณะเป็นกรวยคล้ายปากแตร ดอกเล็กไม่คลี่บาน ส่วนสีของดอกเห็ดนั้นยังคงมีสีขาวหรือสีขาวนวลปกติหรือสีเทาอ่อน สำหรับอาการบนเห็ดเป๋าอื้อ จะแตกต่างกับเห็ดนางรมและเห็ดภูฐาน คือ ก้านดอกจะสั้นผิดปกติ มีลักษณะลีบไม่สมบูรณ์ หมวกดอกมีขนาดเล็กบิดเบี้ยว ดอกไม่คลี่บานออก ในดอกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะไม่บานเต็มที่ ขอบดอกหยักโค้งไปมา บางดอกขอบอกม้วนลงหงิกงอ หมวกดอกแตกเป็นติ่งเล็กบนก้านดอกเดียวกัน สีดอกเห็ดมีสีเทาดำทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กรณีพบว่าดอกเห็ดในโรงเรือนแสดงอาการหมวกดอกหงิกดังที่กล่าวข้างต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาตามแนวทางต่อไปนี้1.การถ่ายเทอากาศ โรงเรือนที่เพาะเห็ดจะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอควรเปิดประตูและหน้าต่างในตอนเช้ามือเพื่อระบายอากาศ และป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.แสงสว่าง ตรวจความเข้มของแสงในโรงเพาะให้เพียงพอพอกับการพัฒนาเจริญเติบโตของดอกเห็ด โดยใช้วิธีเปิดช่องหน้าต่างหรือช่องแสง หรือใช้แสงไฟช่วย โดยเฉพาะในช่วงเก็บดอกเห็ดตอนเช้ามือ 3.ความชื้น ควรตรวจตราความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายนอกและภายในโรงเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปความชื้นสัมพันธ์ในระยะเปิดดอกจะอยู่ระหว่าง 80-90 เปอร์เซ็นต์และความชื้นในโรงเพาะจะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิสูงต่ำของอากาศภายนอกโรงเรือน ดังนั้นในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งความชื้นต่ำ ควรใช้ผ้าพลาสติกบุโรงเรือนด้านในปิดประตูหน้าต่างโรงเรือนไว้ป้องกันความชื้นระเหยให้น้ำวันละ 3 เวลา ก็จะช่วยให้โรงเรือนเปิดดอกมีความชื้นพอเหมาะส่วนในฤดูร้อน อุณหภูมิและอากาศภายนอกโรงเรือนจะสูง การรักษาความชื้นจะกระทำโดยให้น้ำวันละหลายครั้ง รวมทั้งน้ำที่พื้นโรงเรือน ข้างฝา และหลังคา มีการระบายอากาศภายในโรงเรือนก็จะช่วยให้โรงเรือนมีความชื้นได้ตามต้องการ 4.สูตรอาหาร จะต้องเป็นสูตรอาหารที่ได้มาตรฐานมีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับความต้องการของเห็ด เพราะการเตรียมวัสดุเพาะผิดไป การย่อยสลายของวัสดุเพาะ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและฟิสิกส์ของวัสดุจะไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้คุณภาพของวัสดุเพาะเห็ดและธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงไปด้วย เกษตรกรผู้เพาะเห็ดท่านใด สงสัยต้องการสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรติดต่อได้ที่ คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128)