วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

เห็ด : ขอบหมวกดอกหงิก เหี่ยวแห้ง เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคจริงหรือ ?

ลักษณะดังกล่าวเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือน นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เชื้ออ่อนแอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป หรืออากาศร้อนจัด เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคสาเหตุแต่อย่างใด ตามความเข้าใจของผู้เพาะเห็ด ความผิดปกติของดอกเห็ดที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการขอบดอกหงิกในเห็ดสกุลนางรม ซึ่งได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดเป๋าอื้อ ลักษณะอาการของดอกหงิกที่พบในเห็ดนางรมและเห็ดภูฐานจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั้นคือ ดอกเห็ดเกิดเป็นกระจุกๆ ละหลายดอก ประมาณ 5-15 ดอก แต่ละดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร บางดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 4 ซม. หมวกดอกไม่บานหรือไม่คลี่ออก ก้านดอกอาจเกิดเดี่ยวหรือติดเป็นเนื้อเดียวกันจากก้านของดอกเห็ด 3-4 ดอก ไม่มีลักษณะของหมวกดอกปกติให้เห็น ขอบหมวกหงิกงอหยักไปมา หรือขอบหมวกม้วนออก ส่วนอีกลักษณะหนึ่งที่พบ คือ มีความผิดปกติที่ก้านซึ่งค่อนข้างยาวบิดเบี้ยวไม่มีหมวกเห็ด หรือก้านดอกเห็ดใหญ่ผิดปกติ หมวกดอกมีลักษณะเป็นกรวยคล้ายปากแตร ดอกเล็กไม่คลี่บาน ส่วนสีของดอกเห็ดนั้นยังคงมีสีขาวหรือสีขาวนวลปกติหรือสีเทาอ่อน สำหรับอาการบนเห็ดเป๋าอื้อ จะแตกต่างกับเห็ดนางรมและเห็ดภูฐาน คือ ก้านดอกจะสั้นผิดปกติ มีลักษณะลีบไม่สมบูรณ์ หมวกดอกมีขนาดเล็กบิดเบี้ยว ดอกไม่คลี่บานออก ในดอกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะไม่บานเต็มที่ ขอบดอกหยักโค้งไปมา บางดอกขอบอกม้วนลงหงิกงอ หมวกดอกแตกเป็นติ่งเล็กบนก้านดอกเดียวกัน สีดอกเห็ดมีสีเทาดำทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กรณีพบว่าดอกเห็ดในโรงเรือนแสดงอาการหมวกดอกหงิกดังที่กล่าวข้างต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาตามแนวทางต่อไปนี้1.การถ่ายเทอากาศ โรงเรือนที่เพาะเห็ดจะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอควรเปิดประตูและหน้าต่างในตอนเช้ามือเพื่อระบายอากาศ และป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.แสงสว่าง ตรวจความเข้มของแสงในโรงเพาะให้เพียงพอพอกับการพัฒนาเจริญเติบโตของดอกเห็ด โดยใช้วิธีเปิดช่องหน้าต่างหรือช่องแสง หรือใช้แสงไฟช่วย โดยเฉพาะในช่วงเก็บดอกเห็ดตอนเช้ามือ 3.ความชื้น ควรตรวจตราความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายนอกและภายในโรงเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปความชื้นสัมพันธ์ในระยะเปิดดอกจะอยู่ระหว่าง 80-90 เปอร์เซ็นต์และความชื้นในโรงเพาะจะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิสูงต่ำของอากาศภายนอกโรงเรือน ดังนั้นในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งความชื้นต่ำ ควรใช้ผ้าพลาสติกบุโรงเรือนด้านในปิดประตูหน้าต่างโรงเรือนไว้ป้องกันความชื้นระเหยให้น้ำวันละ 3 เวลา ก็จะช่วยให้โรงเรือนเปิดดอกมีความชื้นพอเหมาะส่วนในฤดูร้อน อุณหภูมิและอากาศภายนอกโรงเรือนจะสูง การรักษาความชื้นจะกระทำโดยให้น้ำวันละหลายครั้ง รวมทั้งน้ำที่พื้นโรงเรือน ข้างฝา และหลังคา มีการระบายอากาศภายในโรงเรือนก็จะช่วยให้โรงเรือนมีความชื้นได้ตามต้องการ 4.สูตรอาหาร จะต้องเป็นสูตรอาหารที่ได้มาตรฐานมีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับความต้องการของเห็ด เพราะการเตรียมวัสดุเพาะผิดไป การย่อยสลายของวัสดุเพาะ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและฟิสิกส์ของวัสดุจะไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้คุณภาพของวัสดุเพาะเห็ดและธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงไปด้วย เกษตรกรผู้เพาะเห็ดท่านใด สงสัยต้องการสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรติดต่อได้ที่ คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128)

ไม่มีความคิดเห็น: