วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หยุดเสี่ยง...ยางพารายืนต้นตาย...ขาดน้ำช่วงหน้าแล้ง

การปลูกยางพาราสิ่งสำคัญคือ “น้ำ” เพราะเนื่องจากต้นยางพาราจะต้องการน้ำสูงกว่าพืชชนิดอื่น ดังนั้นทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพาราเลยไปอยู่ที่ภาคใต้ แต่ทว่า...เนื่องจากการที่ราคายางพารา ยางแผ่นที่สูงในขณะนี้ส่งผลทำให้มีเกษตรกรเกือบทั่วประเทศหันมาปลูกยางเพิ่มมากขึ้น เพื่อหวังที่จะกอบโกยกำไรจากการปลูกยางครั้งนี้ เกษตรกรกรบางรายที่อยู่บนพื้นที่แห้งแล้งอาจจะลืมนึกถึงเรื่องของน้ำ ความต้องการน้ำของต้นยางพาราทำให้ปลูกไปแล้วหลายปียังกรีดไม่ได้เลย
สำหรับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราอยู่ก่อนแล้วหรือมือใหม่ที่เพิ่งปลูกเป็นครั้งแรกและอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง อย่าง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคอีสาน ฯลฯ การจะปลูกยางพาราให้ประสบความสำเร็จและสามารถกรีดน้ำยางได้ในปริมาณที่มากๆ ขึ้นนั้น แหล่งน้ำหรือน้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในขบวนการผลิต ดังนั้นเกษตรกรหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่หันมาใช้โพลิเมอร์ในการดูดซับน้ำใส่รองก้นหลุมเพิ่มความชื้นแทนการรดน้ำทุกๆ วัน ก่อนลงต้นกล้าปลูก โพลิเมอร์ก่อนแช่จะมีลักษณะเป็นเม็ดหรือเกล็ดเล็กๆ สีขาวดูคล้ายน้ำตาลทรายขาว เมื่อนำไปแช่น้ำ ก็จะเริ่มดูดน้ำพองตัวเป็นก้อนใสภายใน 5-10 นาที เมื่อแช่ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ก็จะดูดน้ำขยายพองตัวประมาณ 200 เท่า การนำโพลิเมอร์ที่ดูดน้ำเต็มที่แล้วไปใส่รองก้นหลุมปลูกยางพาราช่วงฤดูร้อนแห้งแล้ง ดินก็จะดูดซับน้ำจากโพลิเมอร์เพิ่มความชื้นให้กับดิน รากยางพาราก็จะได้น้ำ ธาตุอาหารซึ่งต้องใช้น้ำเป็นตัวทำละลายจากดินอีกต่อหนึ่ง เมื่อพื้นดินได้รับน้ำเพิ่มเข้ามากขึ้นโพลิเมอร์จะทำหน้าที่ดูดกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงพื้นดินแห้งแล้งวนเวียนอย่างนี้ประมาณ 1 ปี ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่การย่อยสลายของจุลินทรีย์ในพื้นที่นั้นๆ
โพลิเมอร์โดยทั่วไปแล้วจะสามารถขยายพองตัวกักเก็บน้ำได้ประมาณ 200 เท่า ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเค็มของน้ำ(ด่าง)ด้วย สำหรับเทคนิควิธีการนำโพลิเมอร์ไปใช้ในสวนยางพาราโดยเฉพาะช่วงลงต้นกล้าปลูกใหม่ โพลิเมอร์(แห้ง) 1 กิโลกรัม หลังขยายพองตัวแล้วสามารถรองก้นหลุมปลูกได้ประมาณ 200 ต้น ส่วนขั้นตอนวิธีการนำไปใช้นั้นมีดังนี้
1. นำโพลิเมอร์แช่ให้ดูดน้ำให้เต็มที่ (โพลิเมอร์ 1 กก. สามารถดูดกักเก็บน้ำได้ประมาณ 200 ลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชม.หรือค้างคืน
2. ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยโพลิเมอร์ที่อุ้มน้ำเต็มที่หรือแช่น้ำแล้ว 1 กระป๋องนม (1/2 ลิตร)/หลุม
3. นำกล้ายางลงปลูก ถมดินลงไปครึ่งหนึ่งของตุ้มดินที่หุ้มรากยาง นำโพลิเมอร์อีก 1 กระป๋องนม (1/2 ลิตร)/หว่านรอบๆ ตุ้มดินที่หุ้มรากยางอยู่ (ถ้าจะใส่ 2 กระป๋องนมหรือมากกว่าก็ได้เช่นกัน) จากนั้นกลบ-อัดดินให้แน่นเหมือนปลูกยางปกติ
4. หลังจากใช้โพลิเมอร์รองก้นหลุมแล้ว ควรให้น้ำบ้างประมาณ 2 เดือนต่อครั้งและคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้งหรือเศษวัสดุทางการเกษตร จะช่วยทำให้โพลิเมอร์ดูดซับน้ำได้ “ดีเยี่ยม” มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันนี้แม้แต่ภาคใต้ที่เจอภัยแล้งน้อยกว่าอื่นๆ แต่เกษตรกรก็ยังประสบปัญหาต้นยางยืนต้นตายจากขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การนำโพลิเมอร์มาช่วยแก้ปัญหาการขาดน้ำช่วงหน้าแล้ง ทำให้ต้นยางพาราสมบูรณ์ เจริญเติบโตสม่ำเสมอ สูงเท่าเทียมกัน ได้ขนาดตามมาตรฐานของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) สำหรับต้นทุนในการใช้โพลิเมอร์ หากเทียบกับการต้องลงทุนปลูกซ่อมยางแล้วนับว่าต่ำมาก ประมาณ 2.50 บาท/ต้นเท่านั้นเอง เกษตรกรท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชมรมฯ (02-9861680 -2) หรือนักวิชาการชมรมฯ (081-398312 ,081-6929660)
เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com