วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

การป้องกันรักษาหน้ายางเปิดกรีดช่วงฝนชุก

ทุกวันนี้ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันออกฝั่งตะวันตก จะเป็นช่วงเช้าหรือบ่าย จะเป็นคนหรือต้นยางพาราก็แทบไม่มีโอกาสได้รับแสงตะวัน และคิดว่าน่าจะไม่มีแสงแดดแน่นอนในวันนี้นอกจากสายฝนที่โปรยปรายลงมาเรื่อยๆ สภาพอากาศแบบนี้ หากติดต่อกัน 3 -4 วัน และในแต่ละวันมีแสงแดดให้แก่สวนยางพาราน้อยกว่า 3 ชั่วโมง ก็จะส่งผลให้ความชื้นในสวนยางพารามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเหมาะแก่การเจริญเติบโตแพร่กระจายของเชื้อราที่จะทำให้เกิดโรคต่อยางพารา อาทิเช่น โรคใบร่วงและฝักเน่าฟัยท็อปเทอร่า โรคเปลือกเน่า โรคเส้นดำ ยืนต้นตาย ฯลฯ สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคที่จะเกิดบริเวณหน้ายางกรีด นั้นคือ โรคเปลือกเน่าและโรคเส้นดำ ชาวสวนควรหยุดกรีดยางในช่วงฝนตกชุกที่ตกติดต่อกันหลายๆ วัน จนสิ้นฤดูฝนโดยเฉพาะสวนยางพาราที่เพิ่งเปิดกรีดในระยะ 1-3 ปีแรก ต้องให้ความสำคัญให้มากเพราะมีโอกาสที่หน้ายางกรีดจะเน่าเปื่อยได้ง่ายกว่ายางพาราที่มีอายุการกรีดมาก โดยก่อนหยุดกรีดยางก็ควรฉีดพ่นด้วยฟังก์กัสเคลียร์หรือทาหน้ายางด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่า ซึ่งพอสรุปแนวทางการดูแลสวนยางพาราช่วงหน้าฝนได้ดังต่อไปนี้ 1.จัดการสวนยางพาราให้โล่งหรือโปร่งเพื่อระบายความชื้นในสวนยางให้ลดลง 2.กรณีฝนตกไม่ชุก พอจะกรีดยางได้ ให้ฉีดพ่นฟังก์กัสเคลียร์ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือทาหน้ายางด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่าผสมน้ำพอเหลว โดยควรฉีดพ่นหรือทาภายในระยะเวลาที่ไม่เกิน 12 ชั่วโมงหลังกรีดเสร็จเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากไม่สามารถทำได้ ให้ฉีดพ่นหรือทาหน้ายางสัปดาห์ครั้งจนหมดช่วงฤดูฝน 3.การใช้มีดกรีดยางก็เช่นเดียวกัน ควรระวังเชื้อราที่จะติดไปกับมีดกรีดยางจากต้นสู่ต้น จึงควรพกภาชนะเล็กๆ แล้วใส่สารละลายฟังก์กัสเคลียร์สำหรับจุ่มมีดฆ่าเชื้อทุกครั้งที่กรีดเสร็จ 1 ต้น 4.หากเชื้อราเข้าทำลายหน้ายางแล้ว ควรเฉือนส่วนที่เป็นโรคออก แล้วฉีดพ่นฟังก์กัสเคลียร์หรือทาด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่าทันที หากเราสังเกตหน้ากรีดในสวนยางพาราโดยทั่วๆ ไป ก็จะพบว่าชาวสวนยางส่วนใหญ่จะใช้เคมีอันตรายป้องกันกำจัดการเข้าทำลายของเชื้อราดังกล่าวนั้นมากกว่าการใช้จุลินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์กำจัด จะเห็นได้จากเป็นแถบสีแดงๆ ที่ติดอยู่เป็นบริเวณหน้ายางซึ่งยาดังกล่าวจะมียาฆ่าเชื้อราผสมอยู่ด้วย ฉะนั้นช่วงหน้าฝนหากสามารถหยุดกรีดยางได้ก็จะเป็นการดี หน้ายางของเราจะปลอดภัยต่อโรคเปลือกเน่าและโรคเส้นดำ ซึ่งการป้องกันกระทำง่ายกว่าการรักษาเยียวยา เพราะฉะนั้นรักษาหน้ายางเอาไว้ค่อยกรีดทำเงินเมื่อพ้นหน้าฝนดีกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ก็ให้กรีดหน้ายางวันที่ฝนหยุดตกแล้วปฏิบัติตาม ข้อ 2 ข้างต้น ก็สามารรถช่วยได้ในระดับหนึ่งประมาณ 50 -60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดที่ประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้นหรือสงสัยต้องการสอบถามปัญหา ขอเอกสารเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (081-3983128)

ไม่มีความคิดเห็น: