วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปัญหาอุปสรรคของคนทำเห็ด (ตอน 2) อาการเน่าเละของเห็ดฟางกับการควบคุมกำจัดการระบาด

อาการเน่าเละของเห็ดฟาง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซูโดโมแนส ( Pseudomonas sp.) พบในเห็ดฟางในโรงเรือนช่วงฤดูฝน ซึ่งพบว่าดอกเห็ดผิวไม่เรียบ มีจุดขาวคล้ายประแป้ง แล้วเปลี่ยนเป็นตะปุ่มตะป่ำผิวขรุขระทั้งดอก มีอาการช้ำ สีของดอกเริ่มเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลอ่อนอย่างรวดเร็ว เน่ามีน้ำไหลเยิ้มออกมา (กองโรคพืชและจุลวิทยา) ทำให้เก็บผลผลิตไม่ได้เสียหายทั้งโรง สำหรับเชื้อชนิดนี้จะแพร่ระบาดได้ดีช่วงเวลาที่ความชื้นในโรงเรือนสูงโดยมีแมลงเป็นพาหะ การควบคุมกำจัด การที่ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเพาะจนถึงสิ้นสุดการเก็บผลผลิตเห็ดฟาง มีเพียง 13 - 17 วันเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ไม่มีการใช้ยาเคมีในพืชผักชนิดนี้ ดังนั้น วิธีการสำคัญในการป้องกันกำจัดศัตรูเห็ดฟาง คือวิธีการรักษาความสะอาดและการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอและการเอาใจใส่ใกล้ชิด ดังนี้ 1. เลือกหัวเชื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าเป็นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง ปนเปื้อนน้อยที่สุดหรือไม่มี 2. เลือกตอซังหรือฟางข้าวนวดที่สะอาดปราศจากเชื้อราเม็ดผักกาด ฟางต้องมีลักษณะแห้งสนิทและอมน้ำได้ง่าย วัสดุเพาะทุกชนิดไม่ควรทิ้งให้ตากแดดตากฝนหรือเก็บค้างปี 3. มีความเข้าใจถึงสภาพความต้องการต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟาง เพื่อจะได้ปฏิบัติดูแลกองเพาะอย่างถูกต้อง เช่น เรื่องอุณหภูมิในกองเพาะ ขณะเส้นใยเจริญเติบโต ต้องการอุณหภูมิระหว่าง 35 - 38 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าในกองเพาะร้อนหรือเย็นเกินไป ก็ควรจะต้องระบายอากาศ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนหรือต้องเผารอบกองเพาะ เพื่อให้ความร้อนแก่กองฟางในฤดูหนาว นอกจากนี้ยังควรเข้าใจเรื่องความชื้น แสงสว่าง ความเป็นกรด-ด่าง และความสามารถในการใช้อาหารของเห็ดฟางอีกด้วยถ้าเป็นการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม ควรศึกษาถึงการเตรียมปุ๋ยเพาะเห็ดอย่างถูกวิธี ตลอดจนการอบไอน้ำฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้ได้ปุ๋ยเพาะเห็ดที่มีคุณภาพดีซึ่งเชื้อเห็ดใช้ประโยชน์ได้สูงสุด 4. ความสะอาดของแปลงเพาะ ก่อนเพาะควรจะได้ถางหญ้าเตรียมดินไว้เสียก่อน และเมื่อการเพาะเสร็จสิ้นควรนำฟางที่ใช้แล้วเป็นปุ๋ยหมัก เผาหรือตากดินบริเวณแปลงเพาะที่ใช้แล้วทิ้งไว้ประมาณ 4 - 5 วัน เพื่อฆ่าเชื้อราที่สะสมในบริเวณนั้น เป็นการเตรียมที่เพาะในครั้งต่อไป และเป็นการลดประมาณเชื้อราที่อาจมีอยู่ในดิน สำหรับการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม ควรมีการพักโรงเรือนเป็นครั้งคราวและทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อทำลายศัตรูเห็ดฟาง ก่อนที่จะเพาะในรุ่นต่อไปเมื่อสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ท่านก็สามารถที่จะเพาะเห็ดฟางได้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน 5. หมักขยายเชื้อบีเอส - พลายแก้วด้วยมะพร้าวอ่อน นมกล่องรสหวาน หรือใช้สูตรหมักไข่แล้วให้อากาศผ่านท่อออกซิเจนตู้ปลา ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อย่างภาคใต้ปลูกมะพร้าวก็ควรใช้วิธีหมักด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน โดยใช้มะพร้าวอ่อน 1 ผล ต่อเชื้อบีเอส - พลายแก้ว 1 ช้อนชา ( 5 กรัม ) นาน 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งแปลงเพาะหรือบน - ล่างชั้นวางรวมถึงผนัง – พื้นที่โรงเรือนด้วย เกษตรกรหรือคนรักเห็ดท่านใดสนใจต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษทุกสาขา (สนญ.บางเขน 02-9861680 – 2 ) หรือนายเอกรินทร์ ช่วยชู นักวิชาการชมรมฯ (081-3983128) หรือ Email : thaigreenago@gmail.com. ,ekkarin191@gmail.com.

ไม่มีความคิดเห็น: