วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หอยแครงส่งออกตลาดจีน อีกอาชีพที่น่าสน

อาชีพการเลี้ยงหอยแครงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น หอยแครงเป็นหอยที่มีราคาขายค่อนข้างดี แถมยังเป็นหอยที่เลี้ยงง่าย ทางผู้เขียนเองได้มีโอกาสเดินทางไปดูงาน การเลี้ยงการจัดการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงหอยแครงในพื้นที่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงหอยแครงขายเป็นอาชีพหลัก

คุณไพฑูรย์  นันทิวร เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงในพื้นที่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวกับผู้เขียนว่า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วพื้นที่บริเวณนี้เคยเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยมาก่อน จนถึงจุดอิ่มตัวบวกกับช่วงนั้นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเริ่มแพร่หลาย จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำแทน 3 ปีแรกที่เลี้ยงนั้นได้ผลตอบแทนดี จนมีการเลี้ยงเพิ่มขยายมากขึ้น ส่งผลให้ราคาเริ่มตกเกษตรกรผู้เลี้ยงขาดทุนกันเป็นแถวๆ จึงต้องล้มเลิกการเลี้ยง เมื่อขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้ง เงินทุนที่มีอยู่ก็เริ่มหมด จึงได้แนวคิดนำเอาพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทำแบบผสมผสาน ปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ในบ่อเดียวกัน อะไรที่ได้น้อยก็เอาไว้กินที่เหลือก็ขาย ต่อมาหอยแมลงภู่เริ่มมีราคา เกษตรกรก็เลยหันมาเลี้ยงหอยแมลงภู่สร้างรายได้ ไม่นานราคาหอยแมลงภู่ก็เริ่มตกบวกกับหอยแมลงภู่เป็นหอยที่เลี้ยงยาก จึงเริ่มมองหาสัตว์น้ำชนิดอื่นที่สามารถเลี้ยงขายสร้างรายได้แทนการเลี้ยงหอยแมลงภู่ จึงสรุปได้ที่ หอยแครงเพราะหอยแครงมีราคาดี เลี้ยงง่าย และยังเลี้ยงหอยแมลงภู่ กุ้ง ปลา ฯลฯ ควบคู่ได้ อีกด้วย
การเลี้ยงหอยแครงนั้นดูแลไม่ยาก สำคัญอยู่ที่น้ำ-เลน ต้องจัดการระบบน้ำ-เลนในบ่อให้ดี น้ำที่ปล่อยใหม่เข้าบ่อต้องถึงหอยแครง เพราะอาหารของหอยนั้นจะมากับน้ำ เมื่อน้ำใหม่อาหารที่หอยจะได้รับก็ย่อมอุดมสมบูรณ์ หอยก็จะเจริญเติบโตเร็ว แต่ถ้าจัดระบบน้ำไม่ดีหอยก็ไม่โต ไม่ต่อปากหรือกี่ นอกจากนี้การเพิ่มแคลเซียมลงในบ่อเพื่อสร้างเปลือกก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน และที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ พื้นที่บริเวณที่เลี้ยงหอยนั้นไม่ควรปล่อยให้มีพืชน้ำอย่างสาหร่ายน้ำจืดขึ้น ต้องกำจัดทิ้งให้หมด เพราะสาหร่ายน้ำจืดนั้นจะขยายพันธุ์รวดเร็วมาก เมื่อมีจำนวนมากก็จะไปบดบังแสงแดด แถมยังไปแย่งพื้นที่ของหอย ทำให้หอยฝังตัวในดินไม่ได้ ส่วนหอยแครงที่เลี้ยงกันในเมืองไทยมีอยู่ 2 ชนิดคือ หอยเดินกับหอยนิ่ง หอยเดินมีลักษณะตัวจะออกเป็นวงรีแบนๆ เป็นหอยที่ไม่อยู่นิ่งกับที่จะเดินไปเรื่อย เป็นหอยแถบตะวันออก ถ้าเป็นหอยนิ่งก็จะอยู่นิ่งไม่ขยับไปไหน เป็นหอยทางแถบภาคใต้ หากเลี้ยงรวมกันก็จะต้องเลี้ยงหอยที่นิ่งอยู่รอบนอก หอยเดินไว้ข้างใน เพื่อใช้หอยนิ่งเป็นตัวกั้นหอยเดิน โดยเฉพาะหอยนิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจีนในขณะนี้
การเลี้ยงหอยแครงแบบผสมผสานควรเลี้ยงบนเนื้อที่อย่างน้อย 20ไร่ นอกจากนี้บ่อที่เลี้ยงนั้นก้นบ่อจะต้องเป็นดินเลน เพราะหอยแครงชอบดินเลน สำหรับบ่อที่ใช้เลี้ยงควรขุดให้ลึกประมาณ 1.50 เมตร จากนั้นก็หาซื้อพันธุ์หอยแครงจากแหล่งเพาะเลี้ยงแถว สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม เพชรบุรีฯลฯ ขนาด 350-400 ตัวต่อกิโลกรัมลงปล่อย ซึ่งส่วนใหญ่ปล่อยอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 ตันต่อ 1 ไร่ การปล่อยหอยแครงลงบ่อนั้นไม่ควรปล่อยทันที เพราะสภาพน้ำของแต่ละที่ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยพันธุ์หอยลงบ่อต้องใช้น้ำจากบ่อเลี้ยงฉีดใส่พันธุ์หอยก่อน จากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1/2 ชั่วโมง เพื่อให้หอยได้ปรับสภาพอุณหภูมิ ให้เข้ากับน้ำในบ่อก่อน หลังจากนั้นถึงจะนำไปปล่อยลงบ่อ การปล่อยนั้นก็ใช้วิธีการโปรยด้วยมือ ให้ทั่วบริเวณที่กำหนดไว้
การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก หอยแครงจะกินอาหารจากธรรมชาติ แต่ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลพลิกตัวหอย โดยพันธุ์หอยนิ่ง มิฉะนั้นจะจมขี้ตัวเองตาย การลงไปพลิกก็ทำไม่ยาก โดยปล่อยน้ำออกจากบ่อให้เหลือประมาณ 70-80 ซม. แล้วใช้แรงงานคนลงไปใช้มือควานที่หอย จากนั้นก็ใส่น้ำใหม่เติมเข้าไปให้เท่าเดิม และจะต้องคอยเช็คดูทุกๆ 2 เดือน หลังปล่อยหอยแครงลงเลี้ยงในบ่อไปประมาณ 7 เดือน ก็สามารถจับขายได้ ซึ่งจะได้หอยที่มีขนาด 60 ตัว ต่อกิโลกรัม เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงท่านใดมีความสนใจหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680-2 หรือนักวิชาการฯ 081-3983128 ,081-6929660 

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

ไม่มีความคิดเห็น: