วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มะนาวให้น้ำแบบหยดโทษมากกว่าคุณ

โดยธรรมชาติมะนาวเป็นพืชที่มีรากกระจัดกระจายตามผิวหน้าดินรอบๆทรงพุ่ม ไม่ลึกมากมองเห็นชัดเจน แตกรากใหม่เป็นฝอยๆ สีเหลืองอ่อนหรือเขียวตลอดเวลา ส่งผลทำให้ดูดซับธาตุอาหารได้รวดเร็ว หลังใส่ปุ๋ยไปประมาณ 4-5 วัน ก็จะเห็นได้ว่าใบเขียวตั้งขึ้น แตกยอดอ่อนออกมา ถ้าหยุดให้น้ำเมื่อไรใบก็จะเริ่มเหี่ยวเฉา การให้น้ำมะนาวไม่ว่าจะลงดินหรือในวงบ่อซีเมนต์ จะต้องให้ทั่วถึง ดินอิ่มตัว ความชื้นพอเหมาะ เพื่อให้รากที่กระจายตามผิวดินได้น้ำในปริมาณเท่าๆกัน โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ชาวสวนมือใหม่หลายๆท่าน อาจมีแนวคิดว่าการให้น้ำแบบน้ำหยดปล่อยให้ไหลเรื่อยๆ ดี เพราะไม่ต้องคอยให้น้ำบ่อยครั้ง
อย่างที่กล่าวมะนาวรากจะแผ่กระจายไปทั่ว ต้องการน้ำเป็นตัวทำละลายในการดูดซับธาตุอาหาร หากให้น้ำเพียงจุดหนึ่งจุดใดบริเวณโคนต้น ไม่ทั่วถึงไปยังรากส่วนอื่น ทำให้มะนาวไม่สมบูรณ์ ใบเหลือง ผลผลิตตกต่ำ ที่สำคัญน้ำหยดลงดินจุดเดียวนานๆทำให้รากอ่อนแอเป็นเชื้อรา ในที่สุดทำให้มะนาวต้นนั้นเป็นโรคไม่โตหรือตายได้  หากเป็นโรคเนื่องจากรากเน่าให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ 50 กิโลกรัม หว่านรอบๆ ทรงพุ่มเดือนละครั้ง เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราในดิน
การรดน้ำควรให้น้ำกระจายไปรอบๆทรงพุ่ม ซึ่งอาจใช้สปริงเกอร์ หรือมินิสปริงเกอร์ ช่วงหน้าแล้งมะนาวที่ลงดินควรให้น้ำ 3-5 วันต่อครั้ง โดยแต่ละครั้งควรให้อย่างชุ่มฉ่ำไปเลย ส่วนในวงบ่อซีเมนต์สามารถให้ได้ทุกวัน ช่วงไหนก็ได้เนื่องจากวงซีเมนต์ดูดความชื้นออกไปด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ความชื้นในดินหายไป จริงๆแล้วใช่ว่าระบบน้ำหยดไม่ดี แต่ระบบนี้เหมาะสมกับปลูกพืชล้มลุกที่มีรากแผ่ไม่ไกลมากกว่า ส่วนพืชที่มีรากกระจายรอบๆทรงพุ่มนั้นเหมาะสมกับการให้น้ำแบบกระจายตัวมากกว่า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680-2 หรือ 081-3983128 (คุณเอกรินทร์)
เขียนและรายงานโดย : ทีมงานชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  http://www.thaigreenagro.com/Aticle.aspx?id=13140&Param2=4
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556  เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: