วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตามหนอนให้ทัน มิฉะนั้นจะคุณแย่



เมื่อกล่าวถึงหนอนไม่แคล้วนึกถึงหนอนศัตรูเจาะดอกมะลิ ซึ่งเล่นทำลายตั้งแต่ดอกที่ตูมๆสวยๆ ใบอ่อน บางครั้งก็ล้อไปพร้อมๆกันเลย ส่วนใหญ่มักเข้าทำลายช่วงกลางคืน ส่วนกลางวันจะทิ้งตัวลงเอนกายพักผ่อนที่โคนต้น หลบซ่อนตัวตามรอยแตกของผิวดิน บ้างก็หลบซ่อนตามใบที่ม้วนงอ รอให้ถึงเย็นแล้วค่อยๆย่องออกมากัดกินต่อ การควบคุมกำจัดเพื่อลดความเสียหายอาจต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับการระบาดทำลาย ปัจจุบันนี้มีนักวิชาการหลายคนยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานที่สังกัดหรือตนเองจากภาษีนำเข้าสารเคมี อย่างนี้ไทยจะเป็นไทได้อย่างไร เพราะยังคิดเสนอตัวเป็นทาสอยู่ร่ำไปเป็นอย่างนี้อีก 10 ปีข้างหน้าประเทศชาติก็ยังไม่พัฒนาหรอกครับ   นอกเรื่องไปเยอะแล้ว กลับที่การป้องกันหนอนเจาะมะลิกันต่อ การควบคุมที่ถูกวิธีปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพแบบยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดแมลงแม้แต่หยดเดียวนั้นก็คือใช้ธรรมชาติป้องกันธรรมชาติ



อย่างกรณีหนอนที่ว่าเราสามารถใช้จุลินทรีย์บาซิลลัสธูริงเจนซิสควบคุมกำจัด โดยใช้หัวเชื้อบาซิลลัส ธูริงเจนซิส 5-10 กรัม หมักขยายเชื้อในน้ำมะพร้าวอ่อนนาน 24 ชั่วโมง จากนั้นค่อยนำมาผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทั้งบนใบใต้ใบในเวลาเย็นๆ ช่วงแดดร่มลมตก 3-4 วัน/ครั้ง เท่านี้ก็สามารถควบคุมปริมาณหนอนได้แล้ว เพิ่มประสิทธิภาพโดยการฉีดพ่นสลับด้วยจุลินทรีย์ทริปโตฝาจอีกตัวเพื่อทำลาย ไข่ตัดวงจรหรือฉีดพ่นลงดินบริเวณโคนต้นเพื่อกำจัดหนอนขี้เกียจที่กินอิ่มแล้วหลบลงไปหนอนตามพื้นที่หรือตามซอกรอยแตกของผิวดิน นอกจากนี้อาจเสริมฤทธิ์ด้วยสารสกัดจากหางไหล,หนอนตายยากฯลฯช่วยขับไล่แมลง เบรกหนอนให้หยุดทำลายช่วง1-2วันที่เชื้อจุลินทรีย์กำลังออกฤทธิ์

เมื่อตัวหนอนได้รับเชื้อบาซิลลัส ธูริงเจนซิส เข้าไปแล้ว เชื้อจะไปขยายทำลายระบบย่อยอาหาร,ลำไส้ จนตายประมาณ 3 วันหลังฉีดพ่น ซึ่งปลอดภัยทั้งคนใช้คนซื้อ,สัตว์เลี้ยง แต่ไม่ปลอดภัยสำหรับหนอน ไม่จำเป็นต้องหนอนเจาะดอกมะลิ หนอนอะไรก็ได้...ได้ทุกชนิด ส่วนเกษตรกรที่เคยใช้หรือกำลังทดลองใช้ ต้องบอกก่อนว่าการทำควบคุมด้วยวิธีนี้อาจจะต้องใจเย็นและตามหนอนให้ทัน อาจจะไม่เห็นผลปรู๊ดปร๊าดเหมือนยาเคมีก็จริง รับรอง 3วันให้หลัง ปริมาณหนอนลดลงแน่นอน กลัวใจร้อนจนใช้วิชากังฟูปราบหนอนจนราบเป็นหน้ากลองซะก่อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ( 02-9861680-2 )หรือผู้เขียน( 081-3983128)

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เสนอแนะติชม email : thaigreenagro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: