วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

ไม่รู้จะแล้งมั๊ย?!? ฝนนี้

ท่านผู้อ่านและแฟนคลับสมาชิกเกษตรปลอดสารพิษอาจจจะงงๆ สักหน่อยกับชื่อบทความของกระผม เพราะว่าใกล้จะฤดูฝนอยู่รอมร่อแล้วยังจะมาสงสัยอะไรกันนักหนากับปัญหาภัยแล้ง จัดเป็นพวกองุ่นเปรี้ยวหรือยาหมดอายุหรือเปล่า ความจริงก็ไม่มีอะไรหรอกดอกนะครับ เพียงแต่กังวลและสงสัยจริงๆ ในเรื่องที่จะเกิดกับประเทศไทยเราในห้วงช่วงอีกสองสามเดือนข้างหน้า
ต้องขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องของงานบ้านการเมือง แต่ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารอยู่บ้างอาจจะทราบเหมือนกระผมเกี่ยวกับเรื่องปรากฎการณ์เอลนิลโญ่ ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเกิดในห้องช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งความจริงก็เป็นช่วงฤดูฝนของบ้านเราในสภาวะปรกติ
แต่ถ้าไม่ปรกตินั่นก็ย่อมแสดงว่าอาจจะมีปัญหาหรือไม่มีฝนตกในห้วงช่วงเวลาดังกล่าว นั่นคือสิ่งที่กังวลของจริง เพราะถ้าไม่มีฝนตกลงมาในช่วงฤดูกาลนี้แล้วชาวไร่ชาวนาจะนำแหล่งน้ำที่ไหนมาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ท่านว่าจริงไหมครับ?
ความจริงฤดูแล้งในบ้านเรานั้นจะก่อกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงกลางฤดูร้อน คือช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยปรกติก็จะเป็นห้วงช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี. และพอย่างเข้าเดือนพฤษภาคม ก็จะเริ่มคราดไถพรวนดินเตรียมเพาะปลูกรับฝนช่วงต้นเดือนมิถุนายน เกษตรกรที่เพาะปลูกในช่วงนี้ก็จะประหยัดน้ำประหยัดปุ๋ยประหยัดแรงงาน เพราะน้ำฝนน้ันนำปุ๋ยและอาหารลงมาด้วยแถมช่วยทำละลายแร่ธาตุสารอาหารในดินให้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อรากพืช ช่วยให้ดูดกินและลำเลียงไปใช้ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามในพื้นที่ 512,000 ตารางกิโลเมตรของประเทศไทยเรานั้นถือว่ามีความสามารถในการรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากถึง 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ผมใช้คำว่ารองรับนะครับ แต่มิได้หมายถึงกักเก็บ เพราะพื้นที่ของประเทศไทยที่มีบรรพกาลชำนาญด้านการเกษตรแต่ไม่ชำนาญในกัก เก็บหรือกักตุนทรัพยากรที่สำคัญต่ออาชีพของตนเองได้ นั่นก็คือ "น้ำ" ในแต่ละปีเราปล่อยให้น้ำไหลทิ้งลงทะเลมากถึง 70-80% คือประมาณ 560,000-640,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงทำให้พื้นที่ที่มีผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์พร้อมต่อการเพาะปลูกตลอดเวลา แต่ติดขัดปัญหาที่ในบางช่วงบางเดือนไม่มีน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตร หรือจะว่าแต่การเกษตรเลยครับ แม้แต่การอุปโภคบริโภก็ยังไม่เพียงพอด้วยซ้ำ (หรือพวกเราจะฟังแต่หน่วยงานนอกโลกที่คิดว่าหวังดีจริงๆกับเรามากเกินไป)
ในห้วงช่วงเดือน มิถุนายและกรกฎาคมปีนี้ ปรกติจะต้องเป็นฤดูฝน แต่ถ้าเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญ ซึ่งสาเหตุเกิดจากปรากฎการณ์ธรรมชาติเกิดจากการหมุนตัวของโลก แกนโลกที่ทำมุมเอียงกับดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงส่งผลให้กระแสน้ำที่ไหลไปมหาสมุทรแปซิฟิคด้านตะวันออกเปลี่ยนไป มีผลต่ออุณหภูมิและอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ส่งผลให้ลมสินค้าไม่พัดพาดผ่านพาฝนมาตกทางฝั่งภาคใต้ของบ้านเรา มาเลเซียและอินโดนีเซีย ถ้ารุนแรงก็อาจจะส่งผลต่อบ้านเราทั้งประเทศ. ภาพรวมก็คือจะส่งผลให้เกิดภาวะหรือปรากฎการณ์ที่ร้อนกว่าปรกติ แล้งกว่าปรกติ
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรจะหดหาย การสูญเสียอินทรีย์วัตถุจะมากขึ้น (จากความแห้งแล้งจนนำไปสู่การเกิดไฟป่า)  อินทรีย์วัตถุคือแหล่งกำเนิดของปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์ ที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ แหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญควรทำสระน้ำประจำไร่นาเพื่อกักเก็บน้ำ ใช้สารอุดบ่อช่วยอุดรอยรั่วซึม ใช้ม้อยเจอร์ไรเซอร์สำหรับพืช (กลุ่มของไคโตซานสายโซ่ยาว ไบโอฟิล์, ไค โตซานเฟรช) เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น เพราะอากาศที่ร้อนแล้งทำให้พืชสูญเสียน้ำไปได้โดยง่าย ผลิตผลเงาะ ลองกอง ทุเรียน. มะม่วงฯลฯ จะสุกและแก่เร็ว ผลผลิตอาจจะเสียหายมาก การทำให้ดินโปร่งร่วนซุยจากหินแร่ภูเขา การระเบิดดินดานจากสารละลายดินดาน จะช่วยทำให้เนื้อดินสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นอุ้มน้ำอุ้มปุ๋ยในภาวะแห้ง แล้งได้มากขึ้น พื้นที่หรือทุงหญ้าเลี้ยงสัตว์ควรต้องเตรียมการแต่เนิ่นเพื่อหลีกเลี่ยง ปัญหาขาดหญ้าให้วัว ควาย แพะ แกะ ในส่วนของ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ใช้น้ำเค็มก็จะอาจจะมีปัญหาในเรื่องการเจือจางน้ำเค็ม ปัญหาน้ำระเหยแห้งเร็วทำให้ระดับน้ำในบ่อเหลือน้อยความเข้มข้นของเศษอาหาร และขี้กุ้งขี้ปลามาก ควรใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส ซับธิลิส ย่อยสลายขี้เลนขี้ปลาในบ่อเพื่อลดของเสียและก๊าซที่เน่าเหม็น สำหรับวันนี้เวลาและเนื้อที่มีจำกัดผมขออนุญาตนำเรื่องราววิธีการที่เฉพาะ เจาะจงในแต่บะกรณีในแต่ละปัญหามาเล่าให้ทันฟังในโอกาสต่อไปแล้วกันนะครับ

คุณมนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

ไม่มีความคิดเห็น: