วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

บิวเวอร์เรีย รากินแมลง

ปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ต้องปลอดภัย ได้มาตรฐาน ในฐานะผู้ส่งเสริมการผลิต ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและตัวผู้ผลิตเอง การจะแนะนำส่งเสริมให้ใช้อะไร วิธีใด ที่สำคัญปลอดภัยแค่ไหน? การป้องกันโดยใช้ชีววิธีเป็นวิธีหนึ่งที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นสารสกัด น้ำหมักชีวภาพ ส่วนใหญ่มาจากพืช จำพวก สะเดา ตะไคร้หอม ฯลฯ อีกอย่างไม่มีผลทำลายตัวห้ำตัวเบียนและจุลินทรีย์ดีในธรรมชาติ อย่างเชื้อราบิวเวอร์เรีย
บิวเวอร์เรียเป็นเชื้อรากินแมลง สามารถทำลายแมลงหวี่ขาว (Whitefly) เพลี้ยไฟ (Thrips) เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper) ไรแดง (Red spider mite) เพลี้ยอ่อน (Aphid) เพลี้ยไก่แจ้ส้ม (Asiatic cirus psyllid) หนอนศัตรูพืช ฯลฯ เชื้อราชนิดนี้จะเข้าทำลายแมลงศัตรูโดยการผลิตเอนไซม์พิษในตัวแมลงที่อาศัย  จากนั้นก็จะกัดกินย่อยเศษซากที่ผุพัง ปัจจุบันการใช้บิวเวอร์เรียควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็ให้การส่งเสริม เดิมทีเกษตรกรต้องเพาะเลี้ยงเชื้อบิวเวอร์เรียบนเมล็ดธัญพืช 1-2 กก. 1 สัปดาห์ นำมาขยำในน้ำ 5 ลิตรให้สปอร์หลุดออกจากเมล็ดธัญพืช กรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นเติมน้ำเพิ่มลงไปอีก 15 ลิตรให้ครบ 20 ลิตร แล้วจึงทำการฉีดพ่น ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลา แต่ปัจจุบันสะดวกสบายง่ายกว่านั้นแค่ฉีกซองผสมน้ำบวกสารจับใบเล็กน้อย แล้วนำไปฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 3-4 วัน แค่นี้ก็สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้แล้วละครับ
จะให้เชื้อบิวเวอร์เรียมีประสิทธิภาพสูงและควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดีนั้น ควรฉีดพ่นให้โดนตัวหรือบริเวณที่แมลงเกาะอาศัยอยู่ เวลาฉีดพ่นก็เช่นเดียวกันควรเลือกช่วงเย็นๆที่หนอน แมลงกำลังกัดกินทำลาย อีกทั้งเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อบิวเวอร์เรีย เนื่องจากความชื้นสูง แสงแดดอ่อน ไม่มีผลกระทบต่อการงอก ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญเชื้อบิวเวอร์เรียปลอดภัยต่อผู้ใช้ผู้บริโภค ไม่มีสารพิษตกค้างในอาหาร ใช้ได้ทุกระยะของพืช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680-2 หรือ 081-3983128, 081-6929660 (ผู้เขียน)
เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557  เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: