วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

มะกรูดตัดใบขาย ปลอดภัยปลอดสารตกค้าง

เกษตรกร หลายพื้นที่ประสบปัญหาเพาะปลูกไม่ได้ผล ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆกัน ไม่มีการหมุนเวียน ทั้งยังใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ทำให้ดินเป็นกรดขาดสารอาหาร จากที่เคยร่วนซุยกลายเป็นเหนียวแน่นไม่ระบายน้ำ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินต่อพืชจะค่อยๆลดลง ดินก็เริ่มตายใส่ปุ๋ยบำรุงอะไรก็ไม่ได้ผล ทางเลือกที่ดีก่อนปลูกควรเตรียมดิน ปรับสภาพให้เหมาะสม เริ่มตั้งแต่ไถพรวน ย่อยดิน กำจัดวัชพืช ฯลฯ การปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบมาปรุงแต่งรสชาติอาหาร แปรรูปสกัดกลิ่น ซึ่งผู้เขียนมองว่ามันสามารถเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักให้เกษตรกรได้ไม้แพ้พืชชนิดอื่น
                                                                   
มะกรูดชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง pH ระหว่าง 5.8-6.3 และมีอินทรียวัตถุสูง ส่วนระยะปลูกก็มีผลต่อการเตรียมแปลงไม่น้อย เช่นแปลงกว้าง 1 เมตร ก็ควรยกร่องสูง 20-25 เซนติเมตร ห่างจากกึ่งกลาง 1.5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร สลับเป็นฟันปลา ไม่ควรเว้นช่วงห่างเกินไปจะทำให้ตัดใบลำบาก ส่วนพันธุ์นั้นสามารถใช้เมล็ดเพาะ ปักชำ หรือกิ่งตอนก็ได้ ที่สำคัญกิ่งที่จะปลูกต้องปลอดแคงเกอร์ หากปล่อยให้แพร่ระบาดเข้าแปลงจะสร้างปัญหาและส่งผลกระทบระยะยาว

 ก่อนปลูกต้นมะกรูดควรนำพูมิชซัลเฟอร์ผสมปุ๋ยคอกก่อนผสมลงดินเพื่อเพิ่มธาตุ อาหาร หลุมปลูกควรมีขนาดกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 80 เซนติเมตร ก่อนวางกล้าพันธุ์ลงปลูกให้หว่านไตรโคเดอร์ม่ารองก้นหลุมช่วยป้องกันรากเน่า กลบโคนต้นแล้วหว่านคลุมดินด้วยเศษไม้ใบหญ้าแห้งรักษาความชื้นหน้าดิน การปลูกที่ดีควรหันหน้าใบไปด้านทิศตะวันออกเพื่อรับแสง และควรปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะดีที่สุด เพราะถ้าปลูกหน้าฝนก็จะเจอปัญหาราเนื่องจากความชื้นสูง

หลุมปลูกไม่ควรรองก้นด้วยยาฆ่าแมลงหรือคาร์โบฟูราน หากมีปลวกหรือด้วงแมลงในดินให้ใช้เมธาไรเซียมหรือสะเดาบดคลุกผสมรองก้นแทน หลังปลูกได้ประมาณ 1 เดือนให้ใส่ยูเรีย(46-0-0) ผสมกับปุ๋ยคอก(ขี้วัวเก่า)และพูมิชซัลเฟอร์ หว่านห่างจากโคนต้นประมาณ 1-2 คืบ ถ้าเป็นหน้าแล้งก็ให้นำเปลือกถั่วเขียวมาหว่านคลุมรอบๆโคนต้น รักษาความชื้นช่วยกระตุ้นการแตกยอดแตกรากใหม่

แรกๆ ก็ควรหมั่นรดน้ำให้ชื้น ช่วยให้มะกรูดตั้งต้นแตกรากแตกใบอ่อนได้ไวขึ้น การใส่ปุ๋ยควรผสมผสานระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เหมาะสม มะกรูดตัดใบจะใช้ไนโตรเจนค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรฉีดพ่นปุ๋ยเกร็ดสูตร 30-20-10 หรือสูตร 20-20-20 ทุกๆ 10-15 วัน/ครั้ง สลับกับซิลิโคเทรซ +ซิงค์คีเลท 75%+แมกนีเซียม+ไคโตซาน MTและจิบเบอเรลลิน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มะกรูดตัดใบย่อมต้องการแมกนีเซียม และสังกะสี(ซิงค์) สูงตามไปด้วย ส่วนปุ๋ยเกร็ดสูตร 30-20-10+จิบเบอเรลลินช่วยให้มะกรูดแตกยอดใหม่ไวขึ้น และปุ๋ยเกร็ดสูตร 20-20-20 +ซิลิโคเทรซ ช่วยบำรุงต้นลดการขาดธาตุอาหาร

 แมลงศัตรูของมะกรูดส่วนใหญ่เป็นหนอนที่เกิดจากผีเสื้อกลางคืน ที่คอยจ้องทำลายกัดกินใบช่วงยอดอ่อน เกษตรกรต้องขยันคอยตรวจจับแล้วทำลายทิ้ง หรือฉีดพ่นสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงๆ รสชาติขมๆอย่างสะเดาบด บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจรร่วมหรือสลับกับบิวเวอร์เรีย 5-7 วัน/ครั้ง หากหนอนระบาดก็ให้ฉีดพ่นบีที+น้ำสะเดาสลับ 3-4 วัน/ครั้ง ช่วยยับยั้งการกัดทำลายของหนอนก่อนจะเข้าดักแด้อีกแรงหนึ่ง

การดูแลก็จะหนักอยู่ช่วง 1-2 เดือนแรกที่ต้องคอยรดน้ำเช้าเย็นวันละ 2 เวลา พออายุ 8 เดือนก็เริ่มบำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์หว่านรอบโคนต้น ลดน้ำเหลือวันละครั้ง พอย่างเข้าปีที่ 2 ก็เริ่มตัดใบออกจำหน่ายได้ โดยเลือกตัดกิ่งที่ยาวๆไว้ก่อน ไม่ต้องซอยสั้นเหมือนตัดแต่งกิ่ง หรือยาวประมาณ 50 เซนติเมตรขึ้นไป นำมามัดเป็นกำๆละ7-8 กิ่ง เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จก็พักต้นประมาณ 4 เดือน ตัดแต่งบำรุงให้แตกกิ่งใหม่ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ขูดดินท้องร่องขึ้นกลบโคนต้น ไม่นานมะกรูดก็จะผลิยอดแตกใบให้ได้เก็บดังเดิม สลับหมุนเวียนทุก 4 เดือน/ครั้ง/รุ่นตลอดทั้งปี

มะกรูดตัดใบขายจะเน้นเฉพาะการเจริญเติบโตของกิ่งใบเป็นหลัก การตัดแต่งกิ่งเป็นการกระตุ้นให้แตกยอดแตกใบใหม่ การดูแลรักษาต้นเพื่อไว้ตัดใบขาย ควรดูแลรักษามั่นบำรุงต้นใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นสมุนไพรอย่างสะเดาบดหรือจุลินทรีย์อย่างบิวเวอร์เรีย และบีทีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ยิ่งเป็นช่วงหน้าฝนหรือหน้าหนาวน้ำค้างแรง ราดำ ราสนิม ราส้มฯลฯ ชอบระบาดให้ฉีดพ่นล้างสปอร์ด้วยน้ำเปลือกมังคุดก่อน แล้วตามด้วยบีเอส-พลายแก้ว 3-5 วัน/ครั้ง แค่นี้ก็สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของราและแคงเกอร์ได้แล้วละครับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-9861680-2 หรือผู้เขียน 081-3983128

เขียนโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
http://www.thaigreenagro.com/Aticle.aspx?id=15828&Param2=6 

ไม่มีความคิดเห็น: