วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

แล้งซ้ำๆ ซากๆ แก้ไม่ได้หรือไม่ตั้งใจแก้

ภัยแล้ง เป็นปัญหาซ้ำๆซากๆทุกปี บางปีลากยาวนาน 4-5 เดือนติดๆ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องประสบปัญหาน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะเกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทานไม่สามารถเพาะปลูกได้ บางรายต้องเจาะบาดาลหรือซื้อน้ำมาทำเกษตร ปีนี้(2557)ดูทีท่าว่าจะแล้งรุนแรงกว่าปีก่อน แม้แต่ลุ่มน้ำภาคกลางยังกระทบ เนื่องจากน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้อยลง แม้เจ้ากระทรวงที่ดูแลจัดการน้ำโดยตรงจะออกมาแถลงว่าจัดตั้งคณะโน้นคณะนี้ เพื่อกำหนดนโยบายบริหารจัดการน้ำให้ใช้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนโยบายจัดตั้งทุกปีทุกรัฐบาลแต่ไม่เคยสำเร็จซะที เป็นเพราะงบประมาณไม่พอ(กิน) ขาดความต่อเนื่องจากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลหนึ่ง เท่าที่ทราบงบประมาณแผ่นดินที่ละลายกับโครงการน้ำ แต่ละปีๆมีไม่น้อย

พอแก้ไม่ได้ก็ให้เกษตรกรหยุดทำแล้วอย่างนี้ประเทศจะพัฒนาได้ยังไง ผู้เขียนมองไม่เห็นทางออกจริงๆ ยิ่งตอนนี้ชาวนากลับถูกมองว่าเป็นผู้ใช้น้ำมากที่สุด ล่าสุดขอความร่วมมือให้หยุดทำนาชั่วคราว เหตุผลที่ว่าน้ำน้อยมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทั้งๆที่เราเป็นเมืองเกษตรควรพัฒนาด้านเกษตรมากกว่าอุตสาหกรรม ที่แล้วมา กี่รัฐบาลๆก็ยังให้ความสำคัญกับพัฒนาอุตสาหกรรม คิดแล้วมันน่าน้อยใจจริงๆ แล้วอีกกี่ปีถึงจะแก้ปัญหาน้ำใช้ภาคเกษตรได้เสียที ปัญหาน้ำไม่ได้กระทบแค่ชาวนาเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงเกษตรกรที่เพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง ฯลฯ ที่ยังต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีพ
ชาวสวนบางคนจึงหันมาใช้โพลิเมอร์กักเก็บน้ำเพื่อยืดอายุการให้น้ำแทน เนื่องจากสารดังกล่าวสามารถดูดซับน้ำได้ถึง 200 เท่า ทำให้หน้าดินชื้นอยู่ตลอดเหมือนรดน้ำทุกวันแม้เป็นหน้าแล้ง ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีโดยที่ไม่ขาดน้ำ โพลิเมอร์เป็นสารสีขาวเม็ดคล้ายน้ำตาลทราย เมื่อแช่น้ำก็จะพองตัวอุ้มน้ำ แล้วจะยุบตัวพองตัวสลับไปมาประมาณ 1 ปี ช้าเร็วขึ้นอยู่กับการย่อยของจุลินทรีย์ จัดได้ว่าโพลิเมอร์ก็อีกตัวหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยที่ไม่ขาดน้ำ ต้นทุนต่ำหากเทียบกับต้องปลูกใหม่ สงสารก็แต่ชาวนาที่ยังต้องอาศัยน้ำโดยตรง แต่ก็สัญญาว่าเมื่อไหร่ที่เจองานวิจัย ผลการทดลองดีๆเกี่ยวกับชาวนาโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ผู้เขียนจะรีบนำมาเขียนเผยแพร่ให้ได้รับรู้ สำหรับเกษตรกรท่านใดต้องการสอบถามเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 02-9861680 -2 หรือผู้เขียน 081-6929660

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557  เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: