วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

เกษตรพัฒนา แมลงก็พัฒนา


หลายคนเชื่อว่าสารเคมีช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้จริงอยู่ครับ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการเกษตรอยู่ดี เพราะแมลงเองก็พยายามพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อสารเคมีเช่นเดียวกัน เมื่อใช้สารเคมีกำจัดแมลงต่อเนื่องกันนานๆ แมลงจะพัฒนาให้มีภูมิต้านทานต่อฤทธิ์ยา ทำลายได้ยากขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดไว้ซึ่งเผ่าพงศ์พันธุ์ แต่ที่แปลกคือเกษตรกรไม่รู้เลยว่า... การใช้เคมีเกษตรต่อเนื่องนานๆยิ่งเป็นการกระตุ้นให้แมลงพัฒนาความต้านทานต่อเคมีมากยิ่งขึ้น ที่ช้ำหนักคือแมลงต่างๆเหล่านี้สามารถถ่ายทอดยีนความต้านทานได้ทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น

ยิ่งแมลงพัฒนาตัวเองให้มีภูมิต้านทานต่อยาเคมีมากเท่าไร เกษตรกรก็ยิ่งใช้ยาเคมีควบคุมแมลงเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อใหม่ที่มีฤทธิ์ยาที่แรงกว่าเดิม เพื่อควบคุมแมลงให้อยู่หมัด ผลที่ตามมาคือเกษตรกรต้องใช้ยาเคมีที่ใช้กำจัดในปริมาณที่มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนยาใหม่ไปเรื่อยๆ แทนที่แมลงจะลดปริมาณลง แต่กลับเพิ่มจำนวนและระบาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การทำลายระบบนิเวศก็ส่วนหนึ่ง ไม่เพียงแค่แมลงศัตรูพืชที่ตาย สารเคมียังทำลายแมลงประโยชน์อย่างตัวห้ำตัวเบียน ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมศัตรูพืชหรือผสมเกสรไปด้วย

การนำสิ่งมีชีวิตหรือจุลินทรีย์อย่างบิวเวอร์เรีย, เมธาไรเซียม, บาซิลลัส ธูริงเจนซิส ฯลฯ มาใช้ควบคุมแมลง หนอน ถือเป็นทางเลือกใหม่อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากจุลินทรีย์กลุ่มนี้สามารถควบคุมปริมาณของแมลงได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญไม่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งรวมไปถึงตัวห้ำตัวเบียนที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ท่านใดสนใจแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือเสนอแนวคิดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่โทร. 081-3983128 (ผู้เขียน)

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com
วันที่ 1 เมษายน 2557 เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com
http://www.thaigreenagro.com/Aticle.aspx?id=15319&Param2=13

ไม่มีความคิดเห็น: