วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

น้ำผึ้งอาบยาพิษ

ทุกวันนี้จะกินอะไรก็ต้องคอยระวังว่ามีสารพิษหรือป่าว ไม่ว่าจะเป็นผักเป็นผลไม้ต้องระวังไม่แพ้กัน เนื่องจากขบวนการผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันกำจัดแมลง หนอน เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ เพราะคิดว่าใช้แล้วได้ผลผลิต ได้น้ำหนัก ผลงาม ใบสวยสีสด เห็นแล้วก็ต้องขยาดกับพิษร้ายที่แอบแฝงซ่อนอยู่ในสิ่งสวยๆงามๆ กัดกินปั่นทอนชีวิตวันละนิดวันละหน่อย จนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคโน้นโรคนี้กันทุกวันอย่างไงละครับ จะให้มั่นใจว่าปลอดภัยไร้สารพิษชัวร์ๆก็ต้องปลูกเอง นอกจากจะปลอดภัยไร้สารพิษแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าได้ของใหม่ๆสดๆและสะอาดทุกวัน

เคมี เกษตรมันสะสมอยู่ในสายเลือดคนไทยเข้มข้นชนิดที่ว่า ต้องให้อียูออกมาประกาศเตือนไม่รับรองไว้วางใจสินค้าเกษตรไทย รวมถึงเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบหาสารตกค้างในสินค้าเกษตร ทำให้ภาคส่วนรัฐ ภาคเอกชน เริ่มที่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารโดยเฉพาะปริมาณสารเคมี ที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ที่วางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กรมวิชาการเกษตรประกาศยกเลิกทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรู พืชที่มีพิษร้ายแรง 4 ชนิด (ไดโครโดฟอส, เมโทบิล, คาร์โบฟูราล, EPN) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบเจอตกค้างในพวกถั่วฝักยาว คะน้า ผักชี พริก ฯลฯ

จากรายงานปี พ.ศ.2543 ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าประเทศไทยนำเข้ายาฆ่าแมลงมากติดอันดับ 5 ของโลก ยิ่งเป็นยาฆ่าหญ้ายิ่งแล้วใหญ่เราติดอยู่อันดับ 4 ของโลก ซึ่งสวนทางกับจำนวนพื้นที่การเกษตรที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 48 ของโลก โดยเทียบจากการถือครองพื้นที่การเกษตรประมาณ 143 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งประเทศ 321 ล้านไร่ คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก ว่าพื้นที่เกษตรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ถูก"อาบด้วยยาพิษ" จะเห็นได้จากการนำเข้าปุ๋ย ยา เคมีทางการเกษตรนับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากลระหว่างนายทุนที่นำเข้าสารเคมีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ(บางคน)
หากศึกษาดูดีๆรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงถูกกำหนดโดยนายทุนและภาครัฐ ที่นำเข้า (Input) ส่งออก(Output) สุดท้ายผู้รับกรรมก็คือเกษตรกรไหนจะเรื่องราคา ไหนจะเรื่องคุณภาพ สินค้าต้องสดใหม่ ไร้ตำหนิ ขนาดใหญ่ เนื้อแน่น เก็บได้นาน ชนิดที่ว่ากดได้ก็กดเอาทุกเม็ด 

ซึ่งผู้ที่นิยามความหมายของคุณภาพสินค้าเกษตรนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นใดนอกจากนายทุนกับภาครัฐ และแล้วคำตอบก็มาจบตรงที่ว่าจะเลือกใช้อะไร ปุ๋ย ยา ฮอร์โมนตัวไหน เมล็ดพันธุ์ยี่ห้ออะไรดี มันเป็นวงจรที่ผูกขาดเกษตรกร โดยอ้างความมั่นคงด้านอาหารเพื่อสอดแทรกไว้เท่านั้นเอง ท่านใดสนใจแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือเสนอแนวคิดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่โทร. 081-3983128 (ผู้เขียน)

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com
วันที่ 27 มีนาคม 2557 เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: